ดอกเบี้ยขยับ...จะปรับพอร์ตอย่างไร

ดอกเบี้ยขยับ...จะปรับพอร์ตอย่างไร

ดอกเบี้ยขยับ...จะปรับพอร์ตอย่างไร

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.75-1.00% ตามที่ตลาดคาดหมาย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อกลางเดือนมี.ค. พร้อมกับส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคล้ายเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้บริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการที่น่าสนใจ ยิ่งเมื่อผนวกโอกาสที่บริษัทจดทะเบียนจะได้ประโยชน์จากนโยบายด้านภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยแล้ว ล้วนสะท้อนถึงโอกาสรับผลตอบแทนจากการเติบโตของตลาดหุ้นกำลังกลับมา ไม่เพียงเท่านั้น ตลาดหุ้นหลักหลายแห่งทั่วโลกยังดีดขึ้นรับข่าวดีจากสหรัฐฯ เห็นได้จากดัชนีหลักต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับรอบสัปดาห์ก่อนหน้า โดย MSCI ex Japan ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.04% MSCI BRIC ปรับตัวขึ้น 3.53% S&P500 บวกเพิ่มขึ้นมา 0.24% และ MSCI Europe NR เพิ่มขึ้น 1.48% (ที่มา: Bloomberg 17 มี.ค. 2560)

คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อทิศทางดอกเบี้ยเริ่มมีแนวโน้มเข้าสู่ขาขึ้นเช่นนี้ ผู้ลงทุนควรปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรเพื่อรับโอกาสจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นอาจเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และสามารถทนต่อความผันผวนของตลาดหุ้นได้ ซึ่งหากผู้ลงทุนติดตามสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิดและเข้าใจกลยุทธ์การจับจังหวะลงทุน (Timing Strategy) ก็ถือเป็นช่วงที่ดีสำหรับการกระจายการลงทุนไปในตลาดหุ้นภูมิภาคต่างๆ โดย บลจ. แอสเซท พลัส มองว่า ตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นยุโรปยังมีความน่าสนใจ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 200% นับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 อาจเริ่มมีราคาสูงเกินไปสำหรับการเข้าลงทุนในระยะนี้

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ผู้ลงทุนควรเริ่มปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุตราสาร (Duration) ยาวลง และหันมาเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Duration เฉลี่ยประมาณ 1-2 ปี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้ดีกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุตราสารยาว

ในส่วนของผลตอบแทนจากตราสารหนี้ไทยรวมถึงอัตราดอกเบี้ยในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่คาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจยังไม่ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ ดังนั้น ผู้ที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้และสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศได้ อาจเลือกกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ ระยะสั้นถึงระยะกลางในต่างประเทศเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศที่มีอายุตราสารใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มผู้ลงทุน AI บลจ. แอสเซท พลัส มองว่า ตราสารหนี้ High Yield ในภูมิภาคยุโรปยังมีความน่าสนใจในการเลือกลงทุน เนื่องจากความตึงเครียดจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองเริ่มลดลงหลังจากผลสำรวจชี้ว่าพรรคที่ต่อต้านประชาคมยุโรปไม่ได้เป็นฝ่ายที่มีคะแนนนำในเลือกตั้งของฝรั่งเศส โดยผู้ลงทุน AI ที่ไม่มีโอกาสเข้าลงทุนในตราสารหนี้ในภูมิภาคยุโรปโดยตรง อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่กระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ยุโรป ซึ่งกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวนก็จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ลงทุนได้ในอีกทางหนึ่ง

สำหรับมุมมองของ บลจ. แอสเซท พลัส คาดการณ์ว่า ในปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในการประชุมเดือนมิ.ย. และอีกครั้งในช่วงเดือนก.ย. หรือธ.ค. อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงจับตาผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบล่าสุดนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งหากมีประเด็นที่ยังความกังวลให้แก่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือเพียงครั้งเดียวในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ เชื่อว่าเราจะได้เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2561 และ 2562 อีกปีละประมาณ 3 ครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่ 3% ตามที่ธนาคารสหรัฐฯ คาดการณ์ต่อไป

ผู้ลงทุน โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน