'วิทยุ'ไม่ตาย คนฟังย้ายช่องทาง

'วิทยุ'ไม่ตาย คนฟังย้ายช่องทาง

ในยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเสพสื่อ และเปิดรับข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลต่อสื่อดั้งเดิม

 ให้ต้องปรับตัวเกาะติดไลฟ์สไตล์ผู้คนในยุคนี้ 

วิทยุเป็นอีกสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงในยุคที่ออนไลน์ขยายตัวสูง สะท้อนจากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่อยู่ในภาวะทรงตัวหรือเติบโตเล็กน้อยราว 1-2% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จากกสำรวจของนีลเส็นในกลุ่มที่ฟังวิทยุในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 95% ยังฟังเพลงผ่านช่องทางต่างๆ โดย 77% ฟังวิทยุทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์  ขณะที่สัดส่วน 88% ฟังผ่านแอพและเว็บไซต์

สอดคล้องกับผลการสำรวจของ Circle ที่พบว่า ปี2558 ผู้บริโภคฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟน 2% ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 58% ขณะที่การฟังวิทยุ จากเครื่องรับวิทยุ ปี2558 สัดส่วน 60% ปี2559 สัดส่วนลดลงเหลือ 31%

ถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่ยังคงฟังเพลงหรือรายการวิทยุ เพียงแต่ เปลี่ยนช่องทางการฟังจากเครื่องรับวิทยุ ไปสู่ “อุปกรณ์” และช่องทางที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ที่เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในยุคโมบาย เฟิร์ส 

การสำรวจยังลงลึกถึง เหตุผลที่ฟังวิทยุหรือรายการวิทยุ  ซึ่งผู้บริโภคระบุว่าเป็นเพราะ มีคนเลือกเพลงให้ เป็นกิจกรรมที่ผู้ฟัง รู้สึกดี ที่มีคน(ดีเจ) คอยเลือกเพลง นำเสนอเพลงให้ฟังอย่างต่อเนื่อง เหมือนได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทำให้การฟังเพลง สะดวก ง่าย  เรียกได้ว่าเป็นสื่อที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟังและผู้จัดรายการ ที่ยังถือเป็นสเน่ห์ของรายการวิทยุตั้งแต่ยุคอนาล็อกถึงดิจิทัล

นอกจากนี้ยังมองว่ามีความหลากหลายไม่จำเจ เพราะการฟังเพลงจากรายการวิทยุ มีข้อดี คือความหลากหลาย มีการสลับสับเปลี่ยนเพลงไม่ซ้ำ ในขณะที่การเลือกเพลงเอง หรือ การทำ Playlist จะจำกัดอยู่แค่เพลงจำนวนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความซ้ำและเบื่อง่าย

อีกทั้ง ไม่เสียเวลา โดยกลุ่มวัยทำงานเห็นว่า ปัจจุบันแม้ว่า จะมีช่องทางการฟังเพลงที่หลากหลาย แต่ช่องทางเหล่านั้นต้องเป็นการ “เสิร์ช”เอง และใช้เวลาในการหา ถึงแม้ไม่นาน แต่ก็ต้องใช้เวลาหาเพลงด้วยตนเอง ในขระที่การฟังเพลงทางวิทยุ ให้ความสบาย ไม่เสียเวลา ทำงาน กลุ่มนี้ยังเห็นว่า การหาเพลงฟังเอง เหมาะกับวัยรุ่น ที่มีเวลาว่างมาก ต้องการฟังเพลงที่เป็นแนวของตนเอง เป็นการแสดงตัวตน และมองว่าปัจจุบันการฟังเพลงในยูทูบ มีโฆษณาคั่นทำให้เสียอารมณ์

จากข้อมูลการสำรวจดังกล่าว ผนวกกับเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อดั้งเดิม “วิทยุ จึงเป็นอีกสื่อที่เห็นการปรับตัวเข้าสู่ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม อย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบัน รูปแบบรายการวิทยุ ที่มีดีเจ คัดเลือกเพลงมานำเสนอ ไม่ว่าจะอยู่บนหน้าปัด หรือช่องทางออนไลน์ ยังจูงใจผู้ฟัง

ช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการวิทยุ ที่มุ่งนำเสนอ “รายการวิทยุ” ทั้งออฟไลน์คู่ออนไลน์ ที่มีหลากหลายช่องทาง ท่ั้งเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และโซเชียล มีเดีย

ล่าสุดค่ายวิทยุเอ-ไทม์ มีเดียในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกาศเดินหน้าวิทยุออนไลน์เต็มรูปแบบ ด้วยการเปิดตัวคลื่น “ชิล” (Chill) บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงอย่างเดียว  โดย“ไม่มี”คลื่นฯบนหน้าปัดเอฟเอ็ม เป็นครั้งแรก

การคิกออฟวิทยุออนไลน์ ของผู้ประกอบการรายใหญ่ครั้งนี้ ให้ความมั่นใจว่า“วิทยุ”ไม่ล้มหายตายจากเพราะเทคโนโลยี แต่ปรับตัวไปตามแพลตฟอร์มการใช้งานของผู้บริโภค

ทั้งยังถือเป็นจุดเริ่มต้น อีกบทพิสูจน์ว่าในช่วง 5 ปี หลังจากนี้ที่คลื่นวิทยุ ยังคงสภาพอยู่ในมือหน่วยงานรัฐ ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44  แต่เมื่อคลื่นฯ คืนสู่ กสทช. แล้ว การประมูลคลื่นวิทยุระบบดิจิทัล ยังจะได้รับความสนใจแข่งขันชิงคลื่นฯ อีกหรือไม่