ใช้บัตรเดบิตแบบ..'บัตรเดบิต'

ใช้บัตรเดบิตแบบ..'บัตรเดบิต'

โครงการขยายการติดตั้ง อุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องอีดีซี) หรือหากพูดภาษาชาวบ้านทั่วไป ก็คือ “เครื่องรูดบัตร”

 ที่รัฐบาลเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผน “เนชั่นแนล อี-เพย์เม้นท์” หรือ แผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ

รัฐบาลคาดหวังว่า แผน “เนชั่นแนล อี-เพย์เมนท์” ที่ว่านี้ จะช่วยผลักดันให้ไทยเข้าสู่โลก “สังคมไร้เงินสด” สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ก้าวไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างกลมกลืน

แผนการติดตั้งเครื่องรูดบัตร เริ่มทยอยทำไปแล้ว โดยติดตั้งตามร้านค้าทั่วไปทั้ง ร้านใหญ่ ร้านเล็ก ในห้าง นอกห้าง ปูพรมทั่วประเทศ และไม่กระจุกตัวเฉพาะเมืองใหญ่ๆ โดยจะติดให้ครบ 560,000 เครื่อง ภายในเดือนมี.ค.2561

อัตรา “ค่าธรรมเนียม” ที่คิดในการรับ “บัตรเดบิต” ก็ปรับลดจากระดับ 1.25-2.5% ของมูลค่าเงินที่ชำระ เหลือเพียง 0.55% ซึ่งรัฐบาลเครมว่า เป็นอัตราการที่ “ต่ำสุด” ในโลก

นอกจากนี้ “รัฐบาล” ยังจัด “แคมเปญ” จูงใจด้วยการ “แจกรางวัล” ให้กับ “ผู้ใช้บริการ” และ “ร้านค้า” เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.2560 มูลค่าของรางวัลรวมเดือนละ 7 ล้านบาท รางวัลสูงสุดถึง 1 ล้านบาท แจกต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี รวมมูลค่าของรางวัลกว่า 84 ล้านบาท

เป้าหมายก็เพื่อ “จูงใจ” ให้คนหันมาใช้ “บัตรเดบิต” แบบ “บัตรเดบิต”

..พูดง่ายๆ คือ พยายามส่งเสริมให้คนใช้บัตรเดบิตในการ “รูดซื้อ” สินค้าหรือบริการ แทนการใช้กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม แล้วนำมาชำระค่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ

มีสถิติที่น่าสนใจ คือ มูลค่าการ “ใช้เงิน” ผ่านบัตรเดบิตในปี 2559 มียอดรวมกว่า 11.24 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นการใช้โดยการ “ถอนเงินสด” ออกจากตู้เอทีเอ็ม เพื่อไปซื้อสินค้าหรือบริการ ราวๆ 6.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 59.6% ของการใช้เงินผ่านบัตรเดบิตทั้งหมด

ขณะที่ การชำระเงินเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น การโอนเงินและการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ ผ่านตู้เอทีเอ็ม มีมูลค่ารวมกว่า 4.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 39% ของการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตทั้งหมด

ส่วนการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย หรือ “การรูดซื้อสินค้า” มีมูลค่าเพียง 1.59 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต เพียงแค่ 1.4% เท่านั้น!!

ต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่ “น่าตกใจ” สะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ยังคงใช้บัตรเดบิตผิดวัตถุประสงค์ ใช้อย่างไม่เต็มศักยภาพ ใช้ในรูปแบบที่ไม่ต่างไปจากบัตรเอทีเอ็มทั่วไป

แคมเปญของรัฐบาลที่ผมเล่ามาข้างต้น อาจช่วยให้คนใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตได้ตามศักยภาพของบัตรมากขึ้น แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ “ไม่กล้าใช้บริการ” เพราะกลัวในเรื่องต่างๆ นานา กลัวว่า เมื่อรูดบัตรไปแล้ว จะถูกมิจฉาชีพแอบคัดลอกข้อมูลในบัตร แล้วนำไปรูดซื้อของ แม้ว่าปัจจุบันจะเปลี่ยนมาเป็นระบบชิพการ์ดแล้วก็ตาม

ทั้งหมดนี้จึงเป็น “โจทย์สำคัญ” ที่ภาครัฐต้องโหมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง หากชักชวนให้คนใชับัตรเดบิตอย่าง “บัตรเดบิต” ได้แล้ว เชื่อว่าต้นทุนการเงินของประเทศจะลดลงอย่างมาก ขอเอาใจช่วยครับ!