การมีส่วนร่วมของประชาชน กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

การมีส่วนร่วมของประชาชน กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“สิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ” 2 คำนี้ ต่างกัน แต่มีความเกี่ยวโยงกัน เชื่อมโยงกันอย่างมาก

 และยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับคน ประชาชนคนไทยแล้ว เราทุกคนจึงควรต้องให้ความสนใจและมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง

โครงการสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาดถ่านหิน ที่จังหวัดกระบี่ กลุ่มหนึ่งต้องการสร้างเพื่อ ความมั่นคงทางพลังงาน แต่อีกกลุ่มหนึ่งคัดค้าน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงให้มีการชะลอการดำเนินการไว้ก่อน เพื่อให้มีการศึกษา “ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” เพราะโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงต้องมีความรอบคอบและมีความชัดเจนมากที่สุด

การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีรายงาน 2 ฉบับ คือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งรายงานทั้ง 2 นี้จะเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากการดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ

EIA : รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาจาก Environmental Impact Assessment เป็นการรายงานผลการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบจากการดำเนินการของโครงการ โดยมุ่งเน้นให้มีการศึกษา 4 ด้านสำคัญ คือ 1) ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อากาศ น้ำ ดิน 2) ด้านทรัพยากรทางชีวภาพ เช่น สัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ 3) ด้านคุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำดื่ม น้ำใช้ และ 4) ด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เช่น เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข

EHIA : รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาจาก Environment and Health Impact Assessment เป็นการรายงานผลการศึกษาการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการศึกษา 4 ด้านสำคัญเช่นเดียวกับ EIA และเพิ่มมิติด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดการศึกษาในแง่ของพฤติกรรมสุขภาพและการบริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับบุคคล

ในรายงานต้องมีการศึกษาและทบทวนประเด็นของปัจจัยที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบของโครงการ รวมทั้งประเด็นของมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และมาตรการติดตาม ตลอดจนตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอีกด้วย

 เช่น ในการจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน วัตถุดิบที่ใช้ คือ ถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน ควรมีการศึกษาและชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้วจะมีวิธีการกำจัดกากถ่านหินอย่างไร ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งคน พืช สัตว์ และทั้งในส่วนของพื้นน้ำ พื้นดิน บนอากาศ ตลอดจนฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น จะมีวิธีการป้องกันหรือลดมลพิษอย่างไร ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อาศัยในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่จะจัดสร้างและพื้นที่ใกล้เคียง หรือแม้กระทั่งการป้องกันและลดมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ข้อมูลในรายงานดังกล่าวมาจากเอกสารหรือรายงานที่มีการจัดทำและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ และการสอบถามและทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder)

 ผู้จัดทำรายงานต้องเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการจัดทำรายงานทั้ง EIA และ EHIA เป็นอย่างยิ่ง ผู้จัดทำรายงานจึงต้องเป็นบุคคลที่มีมุมมองทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ร่วมกับมุมมองทางวิทยาศาสตร์ (Science) ร่วมกัน เพื่อช่วยในการอธิบายและเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้รายงานที่มีความสมบูรณ์ที่สุด

ผู้จัดทำรายงานจะต้องแสดงให้เห็นถึงวิธีการหรือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจใช้เป็นข้อมูลว่าควรให้มีการดำเนินการโครงการ หรือไม่

ผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นทั้งผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน 4 กลุ่ม คือ 1) ฝ่ายประชาชน 2) ฝ่ายนักวิชาการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 3) ฝ่ายผู้ประกอบการ 4) ฝ่ายบริหาร (ต้องการให้เข้าร่วมด้วยเพราะจะได้เห็นข้อโต้แย้ง ข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง)

ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่จะจัดสร้าง ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการในจังหวัดกระบี่และใกล้เคียง นักวิชาการภาครัฐและนักวิชาการในภาคเอกชนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และใกล้เคียง ในส่วนของนักวิชาการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มาจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม (NGOs) เป็นต้น

ผู้ที่ร่วมแสดงความเห็น ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ต้องมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ไม่ใช่มีแต่มุมมองของผู้สนับสนุนเท่านั้น หรือมุมมองของผู้คัดค้านเท่านั้น

ผู้เขียนไม่ได้เป็นทั้งผู้สนับสนุนหรือผู้คัดค้าน แต่เป็นผู้ที่ต้องการให้การจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นความต้องการของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ จังหวัดกระบี่หรือพื้นที่ใกล้เคียงจริงๆ เพราะกลุ่มคนนี้จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งต้องการรายงาน EIA และ EHIA ที่สมบูรณ์และชัดเจนสามารถตอบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้อย่างแท้จริง

..........................................

ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม