ดิจิทัลแบงก์: พุ่งแรงแซงจากข้างหลัง

ดิจิทัลแบงก์: พุ่งแรงแซงจากข้างหลัง

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ผู้เขียนโชคดีมีโอกาสไปขอดูงานที่ WeBank ที่เป็น Internet Bank ของจีน

ที่นครเซินเจิ้น ต้องใช้คำว่า โชคดีที่ได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตาเป็นอันมาก จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนกันที่นี้

WeBank เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2014 เมื่อนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีน มีดำริให้เริ่มทดลองให้มีธนาคารเอกชนใน 5 เมืองหลัก บริษัท Tencent ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล 1 ใน 3 ในกลุ่ม BAT (Baidu, Alibaba และ Tencent) จึงได้มีโอกาสจัดตั้งธนาคารที่ตนถือหุ้น 30% ที่นครเซินเจิ้นที่ตนเองมีสำนักงานใหญ่ มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้าน RMB ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารขนาดเล็กจิ๋ว Tencent ซึ่งเป็นบริษัท Social Media ที่มีฐานลูกค้าใหญ่กว่า 800 ล้านบัญชี อาศัยข้อมูลลูกค้าของตน วิเคราะห์การซื้อขาย และความต้องการใช้เงินของลูกค้าของตน จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การเงิน สำหรับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเจาะจง โดยฉีกตัวเองไม่ให้แข่งขันกับธนาคารขนาดใหญ่เจาะลูกค้ากลุ่มคนงานอุตสาหกรรม พนักงานเสมียนจบใหม่ ประชาชนในชุมชนเล็ก กลุ่ม SME กลุ่มค้าขายอิสระ กลุ่ม Start – ups รายเล็ก ทั้งนี้ WeBank ไม่สนใจลูกค้ารายใหญ่ นายทุน และองค์กรของรัฐ กลุ่มเป้าหมายของ WeBank เป็นกลุ่มที่เคยถูกแบงก์ต่างๆ ทอดทิ้ง แต่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเป็นลูกค้ารายย่อย หรือที่ในประเทศไทยจะเป็นกลุ่ม ครีม ของกลุ่มรากหญ้า ซึ่งมักเป็นลูกค้าเป้าหมายของผู้ให้กู้นอกระบบ

WeBank จึงสร้างผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นสินเชื่อดิจิทัลสำหรับกลุ่มนี้โดยให้กู้ไม่เกิน 500,000 RMB ต่อราย แต่ส่วนใหญ่กู้อยู่ที่ 100,000 RMB ต่อราย WeBankใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่วิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จากฐานลูกค้า WeBank ซึ่งเป็น Social Network ทำบันทึกพฤติกรรมต่างๆ ของลูกค้า รวมทั้งการใช้เงิน เพื่อการบริโภคและการปล่อยกู้สินเชื่อของลูกค้ารายย่อย จนได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการแล้ว เชื้อเชิญกลุ่มเป้าหมายผ่านโทรศัพท์มือถือให้เข้ามาขอสินเชื่อประเภทสินเชื่อบุคคลเพื่อการแต่งงาน ซ่อมบ้านเรือนหรือเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ WeBank จะคำนวณ (โดยดูจากประวัติ) ว่าจะกู้ได้มากที่สุดเท่าไหร่ ต้องจ่ายคืนเดือนละเท่าไหร่ โดยลูกค้าแต่ละคนเสียดอกเบี้ยไม่เท่ากัน เช่น ลูกค้าชั้นดีอาจจะ 0.025% ต่อวัน หรือ 9.125% ต่อปี ลูกค้าสามารถปรับเวลาและขนาดของการจ่ายคืนได้ ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์นี้ก็คือ ลูกค้าไม่ต้องบากหน้าไปขอกู้เพราะแบงก์จะแอบดูพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว และลูกค้ากับแบงก์ไม่ต้องพบหน้ากัน เพราะสามารถทำธุรกรรมทุกอย่างผ่านโทรศัพท์มือถือเป็น Online Mobile Banking 100% ลูกค้าได้เงินทันทีเมื่อตอบตกลงและเปิดบัญชี การเปิดบัญชีใช้มือถือตัวเองมีการให้รหัสบัตรประจำตัวประชาชน ถ่ายรูปขณะที่กำลังพูด เพื่อทำ Visual Recognition เพื่อให้คอมพิวเตอร์จำลักษณะการเคลื่อนไหวของใบหน้าเป็นการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง

WeBank นับเป็นธนาคารขนาดเล็กมีเงินทุนจดทะเบียนเพียง 300 ล้านRMB ธนาคารนี้ไม่รับฝากเงินและใช้ทุนจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่นๆ หลังจากที่ WeBank ตั้งมา 2 ปีก็เริ่มทำกำไรแล้ว โดยได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 100,000 ล้าน RMB มีลูกค้าสินเชื่อ 80 ล้านคน มี NPL น้อยกว่า 1% ขณะนี้มีเงินในระบบ 60,000 ล้าน RMB WeBank ใช้เจ้าหน้าที่เพียง 1,000 คน ดูแลลูกค้าสินเชื่อ 80 ล้านคน ต้นทุนดูแลลูกค้าไม่ถึงหนึ่งในห้าของแบงก์ปกติ ในบรรดาเจ้าหน้าที่ของ WeBank 60% เป็นเจ้าหน้าที่ IT

จะเห็นได้ว่าการธนาคารในจีนก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมากภายใต้ระบบนี้ ผู้ปล่อยกู้นอกระบบจะค่อยๆ ตายจากไปเองโดยไม่ต้องไปไล่ตามจับเพราะเป็นฐาน ลูกค้าเดียวกันคือลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน แต่มีศักยภาพ ผลกระทบที่ตามมาอีกอย่างก็คือ ธนาคารนี้ไม่ต้องมีสาขา เพราะใช้มือถือติดต่อลูกค้าโดยตรงอาชีพพนักงานเคาน์เตอร์ธนาคารก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะลูกค้าไม่ต้องเข้ามาติดต่อแล้ว ภายใต้ระบบที่กล่าวมาแล้ว ขนาดของลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบมีกำไร เพราะจีนมีฐานลูกค้าและพื้นที่ประเทศใหญ่โตมาก ระบบนี้จึงลดต้นทุนธุรกรรมและต้นทุนการเดินทางของประชาชนได้มาก

สิ่งที่ผู้เขียนอยากเพิ่มเติมประเด็นแรกก็คือ WeBank เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของจีนที่เรียกว่า พุ่งแรงแซงจากข้างหลัง” โดยใช้เทคโนโลยีมือถือยกระดับการเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินกู้ ใช้วิธีการที่รัฐบาลไทยเรียกว่าประชารัฐคือ ภาคเอกชน+รัฐ+เอกชน ทำการขับเคลื่อนกลุ่มยอดหญ้าให้มีโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จีนจะแซงหน้าทุกประเทศไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแท้จริง ก็เมื่อกลุ่มรากหญ้าได้รับการยกระดับ โดยเริ่มจากยอดมาถึงโคน นอกจากนี้ ธนาคารอินเทอร์เน็ตยังลดปัญหาโลจิสติกส์ ลองคิดดูว่าถ้าในแต่ละวันคนจีนประมาณ 20% (260 ล้านคน) ไม่ต้องออกมาทำธุรกรรมที่ธนาคารประเทศจะสามารถประหยัดค่าเดินทาง ลดความแออัด มลพิษและลดความจำเป็นที่ต้องเพิ่มบริการสาธารณะได้มากแค่ไหน

ประเด็นที่สอง ที่อยากเพิ่มเติมก็คือ จีนไม่ใช่ประเทศล้าหลัง ถึงแม้จีนจะยังยากจนเพราะมีประชากรมาก แต่มีส่วนในภาคเอกชน ภาคมหาวิทยาลัยและภาครัฐที่ล้ำหน้าทุกๆ ประเทศอยู่ ประกอบกับแนวโน้มที่ขนาดเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในเวลาไม่ไกลนัก อนาคตของธุรกิจและการเงินโลกอยู่ที่จีน คนไทยควรเปลี่ยนวิธีการคิดที่อยากส่งลูกไปเรียนยุโรปและสหรัฐอเมริกา (ที่กำลังถดถอยลงไปทุกวัน) ในขณะที่จีนพุ่งแรงแซงขึ้นไป รัฐบาลไทยควรให้ทุนส่งนักเรียนไปเรียนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยในจีนไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 คน

ประเด็นที่สาม การเปลี่ยนแปลงที่จีนแสดงถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ในหลายประเทศรวมทั้งไทย ที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้บางอาชีพหายไป ในกรณีของ WeBank อาชีพวิจัยตลาดจะถูกทดแทนโดยวิจัยตลาดโดยใช้ Big Data แน่นอนในระบบนี้ พนักงานแบงก์ก็จะหายไปด้วย เพราะระบบนี้พนักงาน 1 คนดูแลลูกค้า 10,000 คน คนที่จะมีงานทำต้องเป็นผู้มีทักษะ ที่น่าสังเกตคือ พนักงานหนุ่มสาวของจีนมีทักษะ IT ค่อนข้างสูง บริษัท Tencent ที่เป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่มีอายุพนักงานเฉลี่ยแค่ 29 ปี

ลองหันมามองอนาคตประเทศไทย ที่เราอยากจะเป็น Thailand 4.0 ซึ่งยังไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะได้เป็นนั้น ในหลายเรื่องจีนได้ก้าวข้ามไปแล้ว ถ้าเรามัวแต่หลงทางอยู่เราจะก้าวไปไม่ทันคนอื่นเขาจนสถาบันวิจัยต่างชาติคาดว่า เวียดนามจะนำหน้าเราไปในที่สุด!!