มาตรฐานแรงงาน... ในเวทีการค้าโลก

มาตรฐานแรงงาน... ในเวทีการค้าโลก

ท่ามกลางกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ที่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้าในตลาดโลก

 จะเห็นว่าผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลกต่างใส่ใจถึงกระบวนการผลิตสินค้าด้วย จุดนี้เองที่ทำให้ประเด็นนี้ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ในส่วนของ “แรงงาน” ซึ่งที่ผ่านมาได้เกิดความร่วมมือกันของภาครัฐ และภาคเอกชน ในการแก้ปัญหากันอย่างเต็มที่

งานนี้ที่ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดการรื้อแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ สวัสดิการ ป้องกันการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส การค้ามนุษย์ อย่างเข้มงวด

ผลจากการดำเนินการของภาครัฐ ทำให้รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2559 หรือทิปรีพอร์ท 2016 ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐเลื่อนลำดับไทยจากกลุ่มที่ 3 หรือเทียร์ 3 ไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง ขณะที่ทางฟากอียู ยังคงส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐเป็นระยะ

ในแนวทางการปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ให้สถานประกอบการนำไปใช้ เพื่อตอบโจทย์การค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากมีความครอบคลุมทั้งด้านไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการค้ามนุษย์ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่มีการใช้แรงงานบังคับ ขณะเดียวกัน เปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายจ้าง รวมถึงมีระบบการจัดการสุขอนามัย การจัดการของเสีย และมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย

GLP เป็นโครงการที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2555 ในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูป เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำไปปรับใช้ในกระบวนการผลิต ให้สามารถขายสินค้าให้กับตลาดออสเตรเลีย สหรัฐ และอียูได้ ซึ่ง เจสัน จั๊ดด์ ผู้จัดการโครงการความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของ GLP คือ มาตรฐานแรงงานไทย จะต้องมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ หรือมาตรฐานแรงงานสากล 

ขณะเดียวกันก็เป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ที่จะต้องติดตามและปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ของตลาดประเทศคู่ค้า และแม้แนวปฏิบัติ GLP จะเป็นการสมัครใจ แต่ผู้ประกอบการที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก ต่างก็นำแนวทางนี้ไปใช้ เห็นได้จากมีสถานประกอบการได้รับใบประกาศเกียรติคุณ จากกระทรวงแรงงานเมื่อกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มากถึง 3,523 แห่ง 

อย่างเช่น ซีพีเอฟ ไม่เพียงนำแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานไปใช้จริงในฟาร์มไก่เนื้อ แต่ยังผลักดันให้เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพทุกแห่งนำไปใช้ในฟาร์ม ทำให้ทุกฟาร์มได้รับประกาศเกียรติคุณ รวมทั้งได้ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agriculture Practices) ของกรมปศุสัตว์ที่เพิ่มเติมเรื่องการดูแลสวัสดิภาพแรงงาน การไม่ใช้แรงงานทาส แรงงานผิดกฏหมาย และแรงงานเด็ก

ที่สำคัญ ปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ระบุว่าบริษัทฯ อยู่ระหว่างนำมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour Standard: TLS 8001-2010) มาประยุกต์ใช้ในฟาร์มไก่เนื้อของบริษัทฯ สอดคล้องกับที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ที่ได้รับรองมาตรฐานแรงงานระดับสมบูรณ์ขั้นสูงสุด โดยเตรียมความพร้อมฟาร์มเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองมาตรฐานแรงงานจากกระทรวงแรงงานภายในปี 2560 นี้

ในเวทีการค้าโลกที่นับวันจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน การดูแลด้านสวัสดิภาพแรงงานตามมาตรฐานสากล จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่เพียงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงาน และช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

...............................

เจตน์ สมคเน