ข้อบังคับศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ 2560 (2)

ข้อบังคับศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ 2560 (2)

สวัสดีค่ะ ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอ ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

สถาบันอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ (“ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ”) ซึ่งมีผลใช้บังคับไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2560 โดยในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้อธิบายถึง กระบวนการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูสาระสำคัญข้ออื่นๆ ของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ กันนะคะ

การควบคุมระยะเวลาตามข้อบังคับ ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ในข้อที่ 6 ได้กำหนดให้สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (Thai Arbitration Institute: TAI) (“สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ”) มีอำนาจในการย่นหรือขยายระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ได้ เมื่อสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ เห็นสมควร หรือเมื่อมีการร้องขอจากคณะอนุญาโตตุลาการหรือคู่พิพาท เช่น ในกรณี ตามข้อ 9 ของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ได้กำหนดให้ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านหรือข้อเรียกร้องแย้ง(ถ้ามี)เป็นหนังสือต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำเสนอข้อพิพาทในคดีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ซับซ้อน 

ระยะเวลา 15 วันอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำคัดค้านหรือข้อเรียกร้องแย้ง ในกรณีเช่นนี้ ผู้คัดค้านอาจร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ตามข้อ 6 เพื่อขออนุญาตขยายระยะเวลาในการยื่นคำคัดค้านหรือข้อเรียกร้องแย้งได้ ในอดีต แม้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการฉบับเดิม (“ข้อบังคับฉบับเดิมฯ”) ไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ มีอำนาจในการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับ แต่ในทางปฏิบัติก็มีการขอขยายระยะเวลาต่างๆ กับสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ เป็นปกติอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการย่นระยะเวลานั้น ในอดีตไม่ปรากฏกรณีที่สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ มีคำสั่งให้ย่นระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อข้อบังคับฉบับใหม่ฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ในกรณีที่ระยะเวลาตามที่ระบุในข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ใดที่ไม่เหมาะสม สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ อาจใช้อำนาจในการย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ เพื่อให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

การรวมพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกัน ตามข้อ 13 ของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ได้กำหนดให้สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ มีอำนาจในการรวมพิจารณาคดีในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่อยู่ภายใต้การจัดการของสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ซึ่งมีประเด็นพิพาทที่เกี่ยวพันกัน โดยในการรวมพิจารณานี้อาจเป็นกรณีที่สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ เห็นว่าการรวมพิจารณาคดีดังกล่าวเข้าด้วยกันจะเป็นการสะดวกกว่า หรือเป็นกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการร้องขอและสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ เห็นสมควรก็ได้ 

ตัวอย่างเช่น กรณีที่คดีสองคดีมีประเด็นพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกัน คู่ความกลุ่มเดียวกัน และพยานหลักฐานที่ใช้ในการนำสืบส่วนใหญ่เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน การรวมพิจารณาย่อมเป็นประโยชน์มากกว่า โดยการรวมพิจารณาจะทำให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการแยกกัน

การตั้งคณะผู้วินิจฉัยข้อคัดค้านอนุญาโตตุลาการเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในข้อบังคับฉบับใหม่ฯ นี้ ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนการหนึ่งที่มีปัญหาในทางปฏิบัติมาก กรณีหนึ่งที่มักเกิดขึ้นคือ การคัดค้านอนุญาโตตุลาการที่แต่งตั้งโดยคู่กรณีอีกฝ่าย เช่น กรณีการโต้แย้งความเป็นกลางหรือเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการที่แต่งตั้งโดยคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ในอดีตข้อบังคับฉบับเดิมฯ ได้กำหนดให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการวินิจฉัยประเด็นการคัดค้านอนุญาโตตุลาการ และในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านไม่พอใจกับการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว 

ในอดีต คู่พิพาทจำนวนมากไม่พอใจกับคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นการคัดค้านอนุญาโตตุลาการ และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาประเด็นดังกล่าว ซึ่งทำให้การดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการล่าช้าออกไป ดังนั้น ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ จึงได้เพิ่มกลไกในการพิจารณาข้อคัดค้านอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ 23 คือ ให้สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ชี้ขาดหรือคณะผู้ชี้ขาดจำนวนไม่เกิน 3 คน ให้ทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยการคัดค้าน โดยให้ผู้ชี้ขาดหรือคณะผู้ชี้ขาดวินิจฉัยคำคัดค้านให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน และกำหนดให้

คำวินิจฉัยของผู้ชี้ขาดหรือคณะผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดจากข้อบังคับฉบับใหม่ฯ นี้ การคัดค้านอนุญาโตตุลาการของคู่ความจะได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดที่รวดเร็วยิ่งขึ้นค่ะ

สำหรับสาระสำคัญของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ในเรื่องอื่นๆ ผู้เขียนจะได้หยิบยกมาฝากท่านผู้อ่านต่อไปค่ะ พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีค่ะ

...................................................

นันทินี สุนทรพิมล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด