‘ไม่โดนก็ดับ’แบรนด์รอดได้อย่างไรในโลกโซเชียลมีเดีย

‘ไม่โดนก็ดับ’แบรนด์รอดได้อย่างไรในโลกโซเชียลมีเดีย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โซเชียลมีเดีย” ยังคงถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่หลายๆ องค์กรไม่แน่ใจนักว่า จะนำมาใช้ให้เหมาะสมอย่างไร 

เอเยนซีจึงมีหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ลูกค้า นอกไปจากการให้คำปรึกษาเรื่องการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ คำถามก็คือ เอเยนซีจะช่วยให้บริษัทเล่าเรื่องราวของตนเองบนพื้นที่โซเชียลมีเดียอย่างจริงใจได้อย่างไร

หากบริษัทต้องการจะสร้างคอนเทนท์ที่น่าสนใจ องค์กรต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ“สื่อใหม่” ซึ่งนับเป็นเรื่องซับซ้อน โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นแบบ B2B แต่ในโลกยุคปัจจุบัน ผู้บริโภคทุกคนล้วนแต่รับข้อมูลข่าวสารจากช่องทางนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นบริษัทจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะขายขนมขบเคี้ยว หรืออุปกรณ์การแพทย์ก็ตาม

แม้ว่าวิธีการวัดผลทางธุรกิจที่ยังไม่แน่นอน ถือเป็นอุปสรรคของการบริหารโซเชียลมีเดีย แต่ปัญหาหลักจริงๆ แล้วอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กร เพราะการสื่อสารกับผู้บริโภคในโลกโซเชียลมีเดีย ต้องทำผ่านอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการใช้เหตุผลและข้อมูลหนักๆ กรอบความคิดเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ในบางองค์กร 

การมอบหมายให้คนภายนอกดูแลสื่อโซเชียล ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมนัก บริษัทต้องมีบุคลากรภายในที่สามารถเลือกสรรแง่มุมและเล่าเรื่องราวขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเอเยนซีคอยให้คำปรึกษา หลายๆบริษัทพยายามควานหาผู้เชี่ยวชาญหนึ่งคนเข้ามาทำหน้าที่นี้ แต่พวกเขามักจะต้องพบกับสถานการณ์ที่คนอีกกลุ่มใหญ่ ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

สิ่งแรกที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กรได้ก็คือ การช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจว่าเราจะสร้างสรรค์เรื่องราวสำหรับโซเชียลมีเดียได้อย่างไร พวกเขาต้องหาทางพูดถึงจุดเด่นของบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ โดยที่แบรนด์ไม่ได้เป็นจุดเด่น แต่อยู่รอบๆ เรื่องราวเหล่านั้น ผู้บริหารต้องเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคจะรับรู้ว่า นี่คือแบรนด์ของบริษัท แม้ว่าจะไม่ได้มีโลโก้ปะอยู่ก็ตาม

จากนั้น ผู้บริหารต้องพยายามมองผ่านมุมของผู้บริโภค เช่น พวกเขาคิดอะไรเวลาที่พวกเขายืนต่อแถวในซูเปอร์มาร์เก็ตและเปิดเฟซบุ๊คไปด้วย แล้วเวลาดูฟุตบอลทางทีวี สิ่งใดบ้างที่จะสะดุดตาพวกเขา 

ที่สำคัญที่สุด ผู้บริหารต้องเข้าใจว่า ในพื้นที่ของโซเชียลมีเดีย คู่แข่งของพวกเขาไม่ใช่แบรนด์อื่น แต่เป็นรูปลูกแมวและรูปงานแต่งงานของดาราที่อยู่รอบๆ พวกเขากำลังแข่งกับสิ่งอื่นๆทั้งหมดในโซเชียลมีเดียต่างหาก 

หลังจากนั้น จึงเริ่มคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่จะนำเสนอ ค่านิยมของบริษัทคืออะไร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย พวกเขาเหล่านั้นมีความสนใจอะไร และเราจะสร้างคอนเทนท์ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจเหล่านั้นได้อย่างไร

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่บริษัทขนาดใหญ่ ประเด็นในการเล่าเรื่องมักจะถูกปรับแก้ให้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้ง ซีอีโอ แผนกบุคคล และแผนกกฎหมาย แต่หากทุกๆคนได้รับอำนาจในการปรับคอนเทนท์ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตน คอนเทนท์ ก็จะเป็นเรื่องราวเรียบๆ ที่ไม่สามารถดึงความสนใจของผู้อ่านได้เท่าๆ กับโพสต์ของบล็อกเกอร์ที่เล่าเรื่องราวตลกๆของตนเอง

ท้ายที่สุดแล้ว ถือเป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่ต้องเปิดพื้นที่ให้กับการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ อิสรภาพทางความคิดก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย และทำให้คอนเทนท์ ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้

การซื้อยอดวิวเป็นเรื่องง่าย แต่แบรนด์ไม่สามารถใช้เงินซื้อให้คนกดไลค์ หากเรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับชีวิตของพวกเขาอย่างแท้จริง