คำกล่าวแถลงครั้งแรกต่อรัฐสภา ของประธานาธิบดีทรัมป์

คำกล่าวแถลงครั้งแรกต่อรัฐสภา ของประธานาธิบดีทรัมป์

เช้าวันพุธที่ 1 มีนาคม ตามเวลาของประเทศไทย ตลาดหุ้นตลอดจนนักลงทุนทั่วโลก

ต่างติดตามการแถลงนโยบายครั้งแรก ของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ต่อการประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและสภาวุฒิสมาชิก ที่ได้รับความสนใจมากเพราะต้องการทราบว่าจะมีการประกาศนโยบายทางด้านภาษี ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาลงเท่าไร และจะเริ่มมีผลเมื่อไร แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องของภาษีที่เคยหาเสียงไว้ สิ่งที่ชัดเจนคือ การขอความร่วมมือจากรัฐสภาให้ผ่านงบประมาณ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะมีวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญ สรอ(ประมาณ 35 ล้านล้านบาท) พร้อมประกาศว่าจะมีการแก้ไขโครงการรักษาพยาบาลของอดีตประธานาธิบดี โอบามา ด้วยเหตุว่ามีค่าจ่ายสูงและไม่มีความยั่งยืน

คำแถลงดังกล่าวน่าจะทำความผิดหวังสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะเป็นการพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจในกรอบกว้างเท่านั้น ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

ประการแรก คือ วัตถุประสงค์ของนโยบายของประธานาธิบดี ทรัมป์ ในครั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความแข็งแกร่งของสหรัฐอเมริกา ในการทำให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาใช้จ่ายเงินนำนวนมากในการปกป้องประเทศอื่น โดยที่พรมแดนของตนเองกลับเปิดกว้างต่อประเทศอื่น ชาวอเมริกันจำนวนมากนับล้านคนตกงานและสูญเสียรายได้ มีโรงงานกว่า 60,000 แห่งปิดตัวหรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ดังนั้นเขาจึงจะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนในสหรัฐอเมริกาและเพิ่มจากงานชาวอเมริกัน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง สำหรับประเด็นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของสหรัฐอเมริกานั้น ก็ชัดเจนว่าความขัดแย้งและความแตกแยกที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายของตัวประธานาธิบดีเอง

ประการที่สอง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าเขาไม่ได้ต่อต้านการค้าเสรี แต่ต้องการเห็นการค้าที่ยุติธรรมด้วย การที่เขาไม่สนับสุนนเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือหรือ ยุทธศาสตร์ความเร่วมมือกันของประเทศในกลุ่มแปซิฟิก(TPP) นั้นเพื่อการหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆไม่ให้เอาเปรียบสหรัฐอเมริกา พร้อมประกาศว่านับตั้งแต่เขาได้รับชัยชนะจากการเลือกในเดือนพฤศจิกายนตลาดหุ้น สหรัฐอเมริกามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ประการที่สาม คือนโยบายแรงงานข้ามชาติ ประธานาธิบดีทรัมป์มีท่าทีที่อ่อนลง โดยกล่าวโจมตีเฉพาะแรงงานที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกกฏหมาย ว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาโดยไม่ถูกกฏหมายเข้าทำงาน(แย่งงาน) ชาวอเมริกัน เป็นจำนวนมาก และได้มีการย้ายถิ่นของชนชั้นกลางเข้ามาทำหากินในสหรัฐจนร่ำรวย ซึ่งเขายังยืนยันชัดเจนในการที่จะสร้างกำแพงทางใต้ที่ปิดกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเมกซิโก

ประการที่สี่ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมในสหรัฐอเมริกาที่เขากล่าวว่า สหรัฐอเมริกาใช้จ่ายเงินกว่า 6 ล้านล้านเหรียญ สรอใน(การเข้าไปแทรกแซง)ประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเงินจำนวนนั้นสามารถนำมาลงทุนในบริการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการลงทุนนี้จะเป็นการลงทุนโดยสหรัฐอเมริกาและการจ้างงานชาวอเมริกัน

มีสมาชิกสภาคองเกรสจำนวนหนึ่งประท้วงและแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ข้างต้น รวมถึงสมาชิกผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็รวมกลุ่มแต่งชุดขาวประท้วงประธานาธิบดีในที่ประชุมด้วย จึงเป็นที่น่าสนใจติดตามว่า การดำเนินงานของประธานาธิบดีจะได้รับการสนับสนุนและสามารถทำได้ราบรื่นมากน้อยและรวดเร็วเพียงใด เพราะการที่จะทำอะไรที่ทำด้วยปากแต่การปฏิบัติจริงแล้วจะไม่ง่ายอย่างที่คิด

ในฐานะของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว นโยบายการกีดกันและปกป้องทางการค้านั้น ในทางปฏิบัติแล้วไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ดังที่เคยเห็นหลายประเทศที่เคยปิดประเทศมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะที่จะไม่นำเข้าสินค้าหรือแรงงานจากต่างประเทศ เพราะการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในอัตราร้อยละ 45 นั้น จะทำให้สินค้าที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น มือถือที่สหรัฐอเมริกาเคยนำเข้าจากประเทศจีนในราคา 100 ดอลลาร์ สรอ เมื่อถูกเก็บภาษีนำเข้าราคาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 145 ดอลลาร์ สรอ หรือถ้าหากผลิตเองในสหรัฐอเมริกาโดยแรงงานชาวอเมริกันที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ ประมาณ 10 ดอลลาร์ สรอ ที่สูงกว่าค่าแรงทั้งวันในประเทศจีน เมื่อรวมค่าใช้จ่ายประเภทมี่ดินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปแล้ว ต้นทุนการผลิตรวมก็ไม่น่าจะสู้ต้นทุนการผลิตในประเทศจีนได้ ซึ่งโดยรวมแล้วชาวอเมริกันจะเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการที่จะต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่สูงขึ้น แทนจะซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่า

ประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะหวังผลเลิศมากเกินไป ที่นโยบายสามารถโดนใจชาวอเมริกันในการสร้างกระแสชาตินิยม แต่ในทางปฏิบัติแล้วผลอาจจะไม่ออกมาสวยหรูตามที่พูด ทฤษฎีการค้าทางเศรษฐศาสตร์คือ ประเทศต่างๆจะมีความได้เปรียบและความชำนาญในการผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน เช่นสหรัฐอเมริกาอาจจะมีเทคโนโลยีและความได้เปรียบในการผลิตเครื่องบิน แต่ไม่น่าจะมีความได้เปรียบในการผลิตรถยนต์ สหรัฐอเมริกาจึงควรที่จะผลิตและส่งออกเครื่องบิน และเอาเงินนั้นไปนำเข้ารถยนต์จากประเทศอื่น ที่สามารถผลิตรถรถยนต์ด้วยต้นทุนที่ถูกว่า ทำให้ชาวอเมริกันสามารถซื้อรถยนต์ในราคาที่ถูกว่า และมีเงินเหลือที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น