ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม

ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม

ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ 2560 (1)

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับการระงับข้อพิพาทนอกศาล โดยการอนุญาโตตุลาการกันมาบ้างแล้วนะคะ โดยเฉพาะในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้ ข้อพิพาทในกระบวนการอนุญาโตตุลาการหลายๆ คดีได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เช่น คดีคลองด่าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาด ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้เรียกร้องเป็นจำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (Thai Arbitration Institute : TAI) (“สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ”) ได้ออกข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ (“ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ”) ซึ่งมีผลใช้บังคับไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ เป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการที่เก่าแก่ของไทย จัดตั้งขึ้นในปี 2533 และข้อบังคับฉบับเดิมได้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2546 การออกข้อบังคับฉบับใหม่ฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การอนุญาโตตุลาการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับฉบับเดิมหลายประการ โดยเรื่องที่จะหยิบยกมาฝากท่านผู้อ่านในวันนี้คือ เรื่องการกำหนดให้สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ มีอำนาจในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในกรณีที่มีข้อขัดข้องไม่สามารถแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการได้ค่ะ

ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ขั้นตอนหนึ่งที่มักมีปัญหาหรือความล่าช้าคือ การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะในกรณีที่กำหนดให้คณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว ในกรณีการเลือกประธานของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งไม่เข้าร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือไม่ให้ความร่วมมือในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ

ในอดีตข้อบังคับฉบับเดิมมิได้กำหนดขั้นตอนในการแก้ปัญหาในการตั้งอนุญาโตตุลาการไว้ ดังนั้น หากคู่พิพาทได้เลือกใช้ข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ในการระงับข้อพิพาท และมิได้มีการตกลงหรือกำหนดเป็นอย่างอื่นแล้ว ในกรณีที่มีปัญหาในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการจะต้องใช้ทางออกตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 คือ คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการ (มาตรา 18 พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545)

จะเห็นได้ว่าในอดีต การอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ นั้น ศาลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการร้องขอให้ศาลแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความล่าช้า และก่อให้เกิดภาระแก่คู่พิพาทมากขึ้น ดังนั้น ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ จึงได้ออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตามข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 ของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ได้กำหนดว่าในกรณีที่กำหนดให้มีอนุญาโตตุลาการเกินกว่าหนึ่งคนในการยื่นคำเสนอข้อพิพาท หรือคำคัดค้าน คู่พิพาทจะต้องเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ และหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลดังกล่าวมาพร้อมคำเสนอข้อพิพาท หรือคำคัดค้านนั้น มิฉะนั้น สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ อาจไม่รับหรือคืนคำเสนอข้อพิพาท หรือคำคัดค้านนั้นให้ไปทำมาใหม่ หรือให้แก้ไขให้ถูกต้องก่อน

ในกรณีที่มีข้อขัดข้องในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ เช่น ในกรณีที่กำหนดให้มีอนุญาโตตุลาการคนเดียว และคู่พิพาทไม่ดำเนินการเสนอหรือคัดเลือกบุคคลเพื่อเป็นอนุญาโตตุลาการตามวิธีที่กำหนด หรือมีการดำเนินการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการตามวิธีที่กำหนดแล้ว แต่ไม่มีบุคคลใดรับเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือในกรณีที่ตกลงให้มีอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคน หากคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เสนอชื่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดตามข้อ 15 และข้อ 16 ของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ กำหนดให้สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ มีอำนาจในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเองได้

ดังนั้น ต่อไปนี้ในกรณีที่มีปัญหาในการตั้งอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทที่เลือกใช้ข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ในการระงับข้อพิพาทของตนก็ไม่ต้องไปร้องต่อศาล เพื่อขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการให้แล้วนะคะ เพราะข้อบังคับฉบับใหม่ฯ นี้ได้วางแนวทางแก้ปัญหานี้ไว้แล้วค่ะ สำหรับสาระสำคัญของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ในเรื่องอื่นๆ ผู้เขียนจะได้หยิบยกมาฝากท่านผู้อ่านต่อไปค่ะ

พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีค่ะ

.............................................................

นันทินี สุนทรพิมล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]