งานวิจัย R&D ด้านเกษตรของมหาวิทยาของรัฐ: คุ้มค่าแค่ไหน?

งานวิจัย R&D ด้านเกษตรของมหาวิทยาของรัฐ: คุ้มค่าแค่ไหน?

ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “นวัตกรรม” โดยประเทศไทยได้

ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในปี พ.ศ. 2569 จะนำประเทศเข้าสู่ประเทศรายได้สูง คือ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 440,849 บาทต่อปี และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 

ทั้งนี้รัฐบาลจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์โดยการปรับโครงสร้างภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพของประเทศ ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม จึงได้มีแนวทางและเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอยู่ไม่เกินอันดับที่ 30 ของโลก และเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) เป็นร้อยละ 1.50 ของ GDP เพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนต่อภาครัฐเป็น 70:30 และให้มีบุคลากร R&D ต่อประชากรเป็น 25:10,000 คน 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยยังอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และงานวิจัยในประเทศยังผลิตในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากประเทศจะมุ่งเน้นขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ภารกิจการสร้างนักวิจัยและ “นวัตกรรม” จึงตกอยู่กับมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อให้ทราบถึงความคุ้มค่าในการสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะดำเนิน โครงการการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการวิจัยและพัฒนาภายใต้สำนักงานบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้วางนโยบายและสาธารณชนเห็นภาพผลสัมฤทธิ์ และความคุ้มค่าของงานวิจัยที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลการศึกษายังสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน ในการตัดสินใจวางแผนการลงทุนด้าน R&D ในอนาคต

ในขั้นต้นจะเป็นการนำเสนอผลการประเมินความคุ้มค่าของโครงการวิจัยด้านเกษตรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรจำนวน 9 โครงการ วิเคราะห์ความคุ้มค่าโดยวิธีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลได้ โดยกำหนดระยะเวลาประเมินผลประโยชน์เท่ากับ 15 ปี ใช้อัตราคิดลดร้อยละ 7 และกำหนดให้ พ.ศ. 2558 เป็นปีฐานในการคำนวณ 

ผลการศึกษา พบว่า ผลการลงทุนวิจัยและพัฒนาของรัฐในโครงการที่ศึกษา ได้ผลได้คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ระหว่าง 12 - 94,068 ล้านบาท มีอัตราส่วนของผลได้ต่อต้นทุน (B/C ratio) อยู่ระหว่าง 1.98–2,397 หมายความว่า ลงทุน 1 บาท ได้ผลได้ระหว่าง 2 – 2,400 บาท สามารถสรุปโดยรวมได้ว่า ทุกโครงการวิจัยมีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ โดยมีผลได้ต่อการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.98 เท่า และสูงสุดถึงประมาณ 2,397 เท่า จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ผลการประเมินความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของแต่ละโครงการแสดงในตารางที่ 1

ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของผลงานวิจัยและพัฒนาจากการลงทุนของรัฐด้านเกษตรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร พบว่า มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจในระดับสูงถึงสูงมาก โดยไม่มีโครงการวิจัยใดมีมูลค่าผลได้ต่ำกว่า 1 เท่าของเงินลงทุน อย่างไรก็ดี โครงการส่วนใหญ่ยังจะไม่เกิดผลประโยชน์ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่มีการทดแทนของผลิตภัณฑ์อื่น จะสามารถดำรงอยู่ในตลาดได้ค่อนข้างนาน และผลประโยชน์ก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นตามกาลเวลา นอกจากนี้ ยังพบว่า มหาวิทยาลัยขนาดเล็กและมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคมีโอกาสและมีความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมรับใช้สังคมและนวัตกรรมสำหรับ SMEs ได้เป็นมูลค่าที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน

ขอเชิญชวนผู้ที่ได้รับทุน สกอ. เข้าร่วมงานประชุมฟังรายละเอียดเพิ่มเติมในงานประชุมใหญ่โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาครั้งที่ 5 เรื่อง รากฐานภูมิปัญญาไทย นวัตกรรมวิจัยสู่สากลกำหนดจัดวันที่ 2 – 4 มีนาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี