เงินบาท 'เซฟเฮฟเว่น'

เงินบาท 'เซฟเฮฟเว่น'

เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ผมเคยเขียนเรื่องนี้ครั้งหนึ่งในบทความชื่อ “โมเดล..รับมือบาทแข็ง”

 เล่าถึงมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มองไทยเป็น “เซฟเฮฟเว่น” หรือแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน

บางคนอาจไม่เชื่อว่า ไทยนี่นะเป็น “เซฟเฮฟเว่น” เพราะด้วยเศรษฐกิจที่โตต่ำในระดับแถวล่างของภูมิภาค ทั้งยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง การเมืองก็ดูวุ่นๆ แล้วจะเป็นเซฟเฮฟเว่นได้ยังไง

แต่เชื่อเถอะครับว่า เขามองเช่นนั้นจริง สาเหตุเพราะฐานะด้านต่างประเทศของไทยมีความแข็งแกร่งมาก ที่เห็นชัดๆ คือ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเราสูงมาก เรียกว่าสูงกว่าหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด อีกทั้งยังมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่อง ปีที่แล้วเกินดุลฯ ถึง 11% ของจีดีพี

สัปดาห์ที่แล้ว “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ยอมรับในเรื่องนี้ชัดเจน ดร.วิรไท บอกบนเวทีสัมมนาว่า ด้วยภาวะแบบนี้ ทำให้มีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาพักในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ “เงินบาทแข็งค่าขึ้น” ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจนัก แบงก์ชาติต้องคอยประเมินสถานการณ์เหล่านี้อยู่ตลอด

ความจริงแล้วใน “ห้องค้าเงิน” รู้กันดีว่า ช่วงที่ผ่านมา แบงก์ชาติ เข้าดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะ พยายามพยุงไม่ให้หลุดระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ลงมา ..นี่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มสูงขึ้น

เข้าใจว่า แบงก์ชาติ พยายามเข้าดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันในภูมิภาค แต่คำถาม คือ แบงก์ชาติจะทำแบบนี้ได้นานแค่ไหน? ..ที่สำคัญการ “แทรกแซง” ค่าเงินแต่ละครั้ง “มีต้นทุน” ที่สูงพอสมควร

แบงก์ชาติ อาจมองว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามา แค่มาพักเพื่อรอดูความชัดเจนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) รวมทั้งรอดูนโยบายด้านเศรษฐกิจของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ว่าจะออกมาอย่างไร

เมื่อใดที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย เงินทุนต่างชาติที่เคยไหลเข้ามา ก็น่าจะไหลกลับออกไป ถึงตอนนั้น สถานการณ์ค่าเงินบาทคงเริ่มคลายตัว ภาระที่แบงก์ชาติแบกรับไว้ก็เบาลง

แต่เกรงว่าสถานการณ์อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในยุคของ “ทรัมป์” อะไรก็เกิดขึ้นได้ ยิ่งทรัมป์และทีมงาน เริ่มส่งเสียงดังๆ ว่า เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น กำลัง “ฆ่า” เศรษฐกิจของสหรัฐ

ประเด็นเหล่านี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้า ทรัมป์ โดดลงมาเล่นเกม “สงครามค่าเงิน” อย่างเต็มตัว ที่สำคัญหากนักลงทุนต่างชาติ ยังมองไทยเป็น “เซฟเฮฟเว่น” ปักหมุดการลงทุนเป็นที่แรกๆ แบงก์ชาติจะรับมืออย่างไร

หากแบงก์ชาติเลือกที่จะเข้าแทรกแซงค่าเงินต่อเนื่อง ก็ชวนให้อดคิดไม่ได้เช่นกันว่า แบงก์ชาติ มีระดับ “อัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม” ในใจหรือไม่ แล้วไทยกำลังใช้ระบบ “ตะกร้าเงินแฝง” หรือเปล่า 

..เป็นคำถามที่แอบคิดเล่นๆ ในใจ!