'รัฐ' กับการหนุน 'สตาร์ทอัพ'

'รัฐ' กับการหนุน 'สตาร์ทอัพ'

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการด้านการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะภาครัฐจัดตั้ง “สมาร์ทเอเจนท์ (Smart Agent)”

เพื่อระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ มาช่วยดึงศักยภาพและต่อยอดงานวิจัยไทย สู่โมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่านการบ่มเพาะและเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจ การให้คำปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์ทางปัญญา การพัฒนาการตลาดและธุรกิจ รวมไปถึงการสรรหาเงินทุนผ่านเครือข่ายต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเสริมสร้างระบบอีโคซิสเต็มส์ ที่เอื้อต่อการเกิดใหม่ของธุรกิจสัญชาติไทยอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน 

สอดคล้องนโยบายภาครัฐ ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเห็นว่า หากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานภาครัฐไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ภาครัฐควรปรับกฎหมายเปิดให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นในสังคมไทย

ศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บอกว่า ปัจจุบันไทยมีหน่วยธุรกิจมากมาย ที่ล้วนเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มสมาร์ทเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ (MNCs) ทุกกลุ่มธุรกิจมีหลักการบริหารงานที่แตกต่างกัน กลุ่มธุรกิจส่วนหนึ่งเติบโตและพัฒนาได้ด้วยตนเอง ขณะที่อีกหลายส่วนยังคงต้องการการสนับสนุนทั้งงบประมาณ และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างธุรกิจอย่างมั่นคง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มุ่งใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อยอดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มีขั้นตอนในการพัฒนาธุรกิจค่อนข้างซับซ้อน ยากที่กลุ่มนักวิจัย หรือบุคคลทั่วไปจะสามารถลงมือพัฒนาธุรกิจด้วยตนเองได้ตลอดรอดฝั่ง

อาจารย์วิทวัส ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในไทย กลับขาดบุคลากรที่มีความรู้จริงในการพัฒนากลุ่มธุรกิจแนวคิดใหม่อย่าง “สตาร์ทอัพ” ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ภาครัฐจึงควรตั้งหน่วยงานกลางในการผลักดัน และต่อยอดงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ขึ้น และให้มีบทบาทประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ภาครัฐควรพิจารณาปรับใช้กฎหมายเพื่อ แก้ปัญหาความล่าช้าระบบราชการไทยในการใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ที่มักติดปัญหาขั้นตอน 

ข้อเสนอแนะเหล่านี้น่าสนใจ ภาครัฐน่าจะมีแอคชั่นในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมูลค่าการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ บอกว่า ปี 2559 กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพไทยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปีนี้ (2560) หรือคิดเป็นมูลค่าลงทุนราว 3,600 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต เช่น สตาร์ทอัพด้านการผลิตอาหาร การเกษตร และด้านการท่องเที่ยว

น่าเสียดายหากภาครัฐ จะละเลย และไม่จริงจังในการผลักดัน เพราะเทรนด์เหล่านี้ คือ อนาคตที่มีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจของไทยได้มหาศาล..