สะพานลงทุนสู่ CLMV

สะพานลงทุนสู่ CLMV

สะพานลงทุนสู่ CLMV

“นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ที่ประกาศไว้เมื่อ 4 สิงหาคม 2531 และการปรับนโยบายที่เป็นมิตรและเปิดกว้างต่อพม่า ของรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ระหว่างพม่าและกลุ่มอินโดจีนที่มีกับประเทศไทย

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้ว่าไทยในฐานะที่เป็นสะพานการลงทุนโดยตรงไปยังกลุ่ม CLMV ได้เริ่มเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร แต่สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นกลับเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น อันที่จริงแล้วประเทศในกลุ่ม CLMV เพิ่งเริ่มพัฒนาตลาดทุนมาไม่นานนัก โดยเวียดนามเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกในปี 2543 ลาวและกัมพูชาในปี 2554 พม่าในปี 2558 เทียบกับประเทศไทยที่เริ่มเปิดการซื้อขายตั้งแต่ปี 2518 หรือเกือบ 42 ปีมาแล้ว

สำหรับพม่าปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดเพียง 4 บริษัท และยังมิให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ โดยต้องรอการแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ในขณะที่กัมพูชามีบริษัทจดทะเบียน 4 บริษัท และลาวมี 5 บริษัท

เวียดนามนั้นนับว่ามีตลาดหลักทรัพย์ที่พัฒนามากที่สุดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยปัจจุบันมีตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมิน (หุ้นธุรกิจขนาดใหญ่) และตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (หุ้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) โดยมีบริษัทจดทะเบียน 687 บริษัท และมีมูลค่าตลาดรวมเพียงประมาณ 1 ใน 8 ของไทยเท่านั้น

ดังนั้น การที่คนไทยจะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศเหล่านี้  อาจทำได้ผ่านการลงทุนโดยตรง (ไม่รวมพม่า ที่ยังลงทุนไม่ได้) ซึ่งมักจะต้องใช้เงินจำนวนมากพอ จึงจะคุ้มกับค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ รวมถึงต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการติดตามข้อมูลที่มากกว่าปกติ เนื่องจากต้องยอมรับว่าประเทศเหล่านี้ มีระดับการเปิดเผยข้อมูลที่จำกัด อีกทั้งเกณฑ์ธรรมาภิบาลที่ยังไม่เข้มงวดทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้วที่เราเคยลงทุนกัน (และถึงแม้จะเทียบกับประเทศไทย ก็ยังห่างกันอยู่ค่อนข้างมาก)

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมนั้น แม้แต่กองทุนรวมที่ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็มักจะไม่มีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้เลย หรือถ้าจะมี ก็มีเฉพาะเวียดนามเท่านั้น และมีน้ำหนักน้อยมากๆ (โดยทั่วไปมีไม่ถึง 5% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนโดยรวม ไม่นับรวมกองทุนประเภท Country Fund) เนื่องด้วยเหตุผลด้านขนาดและสภาพคล่องของบริษัท เมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนของประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน

ดังนั้น หากผู้ลงทุนประสงค์ที่จะลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้จริงๆ ก็อาจต้องใช้วิธีลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้ แต่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ หรือฮ่องกง (ในลักษณะเดียวกันกับหุ้นอาลีบาบาของจีน ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค ในสหรัฐฯ) และอาจเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทไทย สิงคโปร์ ฯลฯ ที่มีรายได้จากการทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้เป็นสัดส่วนสำคัญของรายได้รวมของบริษัทนั้นๆ เป็นต้น

โดยอาจพิจารณาข้อมูลในส่วนของหุ้นไทยจาก GMS Economic Exposure Universe โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่แสดงรายชื่อบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการลงทุนและ/หรือมีรายได้จากลูกค้าและ/หรือการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (ไม่รวมจีนตอนใต้) ซึ่งนับเป็นการลงทุนในลักษณะบริษัทตัวแทน (Proxy) ที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านการเปิดเผยข้อมูลและธรรมาภิบาลลงพอสมควร เมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศ CLMV โดยตรง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกลต. ไทย อย่างเข้มงวดนั่นเอง

การลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศ CLMV นี้ ถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะเติบโตร่วมไปกับตลาดทุนของประเทศเกิดใหม่ เช่นเดียวกับการเริ่มต้นของตลาดเกิดใหม่ในอดีตอย่างจีน หรืออินเดีย ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องพร้อมรับมือกับความผันผวนด้านราคา ความเสี่ยงทางการเมือง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการปรับตัวเชิงโครงสร้างที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา