ปั้นช่องทางออนไลน์ เสริมผู้ชม'จอทีวี'

ปั้นช่องทางออนไลน์ เสริมผู้ชม'จอทีวี'

แม้“ทีวี”เป็นสื่อหลักเข้าถึงครัวเรือนไทย ทั่วประเทศสัดส่วน 98% ทั้งยังครองเม็ดเงินโฆษณาเป็นอันดับหนึ่ง

 สัดส่วนกว่า 60% มูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท 

แต่การเติบโตสื่อออนไลน์ และการใช้โซเชียล มีเดีย ของคนไทยที่ติดอันดับโลก ทั้งในแง่การใช้เวลาออนไลน์ผ่านมือถือ เสพคอนเทนท์ยูทูบ กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่ใช้เฟซบุ๊คสูงสุด ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันการเติบงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย(MAAT) คาดการณ์ว่าปีนี้มูลค่าอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ​เติบโต 31% สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาที่น่าจะขยายตัวราว 10%  ปีนี้โฆษณาออนไลน์ จะก้าวขึ้นมาครองอันดับ2 สื่อที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดรองจากทีวี

ทั้งจำนวน“ผู้ใช้งาน”และ“เม็ดเงิน”โฆษณาที่เพิ่มขึ้นของสื่อออนไลน์ ส่งผลให้ “สื่อหลัก”อย่างทีวี เริ่มนำคอนเทนท์จากจอทีวีเชื่อมมายังสื่อออนไลน์มากขึ้น ส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับ“ดิจิทัลแพลฟอร์ม” ยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ ยูทูบและเฟซบุ๊ค ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก   ส่งผลให้ 2 แพลตฟอร์มหลักครองเม็ดเงินโฆษณกว่า 50% สื่อดิจิทัลปีที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาสถานีฟรีทีวีและทีวีดิจิทัลทุกช่อง ได้นำรายการบางส่วนมานำเสนอผ่าน “เฟซบุ๊ค ไลฟ์”ที่เป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่ง มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านราย เพื่อขยายฐานผู้ชมออนไลน์ และจูงใจให้ติดตามผ่านจอหลักทีวี

ปัจจุบันทั้งฟรีทีวีและทีวีดิจิทัลช่องผู้นำ ได้นำคอนเทนท์ไพร์มไทม์ ละคร วาไรตี้ เกมโชว์ การประกวดร้องเพลง มานำเสนอผ่านเฟซบุ๊ค ไลฟ์ มากขึ้น ล่าสุด ช่อง7 ปล่อยเฟซบุ๊ค ไลฟ์ ตอนจบละคร 20.30 น. 3 เรื่องในตลอดสัปดาห์นี้ แบบไม่หวั่นตัวเลขเรทติ้งจอหลัก

ส่วน เวิร์คพอยท์ทีวี ที่ทดลอง เฟซบุ๊ค ไลฟ์ รายการดังมาก่อนหน้านี้  โดยเฉพาะ The Mask Singer พบว่าทั้งยอดผู้ชมทั้งออนไลน์และทีวี เติบโตทั้ง “2จอ” จากพฤติกรรมผู้ชมเสพสื่อทั้ง 2 แพลตฟอร์ม“พร้อมกัน" โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊ค 50% อยู่ในกรุงเทพฯ  กลุ่มนี้หากอยู่ที่บ้านจะเปิดจอทีวีดูพร้อมมือถือ ที่ใช้เป็นช่องทางพูดคุยผ่านโซเชียล มีเดีย แต่หากยังไม่ถึงที่พัก หรืออยู่ระหว่างเดินทาง จะดูผ่านจอมือถือ  ขณะที่ผู้ชม"ต่างจังหวัด"ยังดูจากจอทีวี เป็นหลัก

ปีนี้เฟซบุ๊คจะเปิดตัวรูปแบบโฆษณาผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ ที่จะแบ่งรายได้กับเจ้าของคอนเทนท์  ซึ่งถือเป็นอีกแหล่งรายได้ให้กับสื่อทีวีที่นำรายการมานำเสนอผ่านช่องทางดังกล่าว จากเดิมที่มียูทูบ แชนแนลเป็นแหล่งรายได้หลัก

แต่รายได้โฆษณาจากทั้ง “เฟซบุ๊คและยูทูบ” ที่สถานีทีวีได้รับ ถือเป็นสัดส่วนรายได้ไม่มาก เมื่อเทียบกับเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลปีก่อน  ที่ทั้ง 2 ช่องทางหลักได้รับกว่า 4,500 ล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้

แม้ดิจิทัล แฟลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ จะเป็นสื่อหลักที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากและเม็ดเงินโฆษณาขยายตัวต่อเนื่องในอัตราก้าวกระโดด แต่เป็นเงินที่ไหลออกนอกประเทศและไทยไม่ได้ประโยชน์ด้านภาษี ขณะที่ผู้ประกอบการไทยได้ส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาไม่มากนัก 

ปัจจุบันบรรดา “มีเดีย เอเยนซี” ผู้วางแผนใช้งบโฆษณาให้กับแบรนด์และสินค้าต่างๆ  จึงแนะนำให้ สถานีทีวีและผู้ผลิตคอนเทนท์ ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนา“แพลตฟอร์ม ออนไลน์”ของตัวเอง ทั้งเว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่น เพื่อเป็นอีกช่องทาง รองรับการรับชมคอนเทนท์ทีวี ผ่านช่องทางออนไลน์ในยุคนี้  หากมีฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น ก็พร้อมใช้งบโฆษณาผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งรูปแบบนี้ สถานีทีวี จะได้รับเม็ดเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้วยเชื่อว่าหากคอนเทนท์ดี ไม่ว่าอยู่ช่องทางไหน  ผู้ชมจะติดตามไปดู