กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

บทความฉบับนี้เรามาว่าด้วยกฎหมายใหม่ที่น่าสนใจกันนะคะ โดยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

มีการออกกฎหมายใหม่ๆ จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร การลงทุน ภาษีอากร และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะเดียวกันก็มีกฎหมายใหม่ที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคมออกมาด้วยซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตหรือความปกติสุขของบ้านเมืองไม่เกิดการพัฒนา เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายยาเสพติดให้โทษ และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ค่ะ

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ณ สิ้นปี 2016 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 66 ล้านคน คิดเป็นจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลที่มีการสำรวจโดยสื่อต่างประเทศพบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตติดอันดับ 1 ใน 10 ของทวีปเอเชีย นับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ซึ่งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรอาจจะถูกมองว่าเป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะเกิดปัญหาและความเสื่อมของสังคมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายออกมาควบคุมพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ของประชาชนด้วย

กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทยฉบับแรกออกมาเมื่อปี พ.ศ.2550 สำหรับฉบับที่ 2 ที่เพิ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมานี้ (และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ประกาศ) จะมีการแก้ไขอะไรที่น่าสนใจบ้างเรามาดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

เพิ่มวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 11 มีข้อความดังนี้ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับและลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย”

โดยผลของมาตรานี้ ต่อไปผู้ใดจะส่งอีเมลโฆษณาไปรบกวนผู้อื่น (ซึ่งตีความได้กว้างมากและอาจรวมถึงอีเมลทุกชนิดที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ) หรือ junk mail ก็จะต้องคิดให้ดีๆ นะคะ เพราะหากไปผิดกฎหมายมาตรานี้เข้าก็จะมีโทษปรับถึงสองแสนบาท

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีการออกประกาศกำหนดลักษณะและวิธีการส่ง ลักษณะและปริมาณของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับและลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายลูก โดยหลักบรรดาผู้ส่งอีเมลรบกวนหรือ junk mail ทั้งหลายก็ยังสามารถส่งได้อยู่โดยยังไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจควรจะเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติในการส่งอีเมลตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะน่าจะมีการประกาศกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องออกมาในไม่ช้านี้

เดิมมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท” 

ดังนั้น ถ้าส่งอีเมลรบกวนหรือ junk mail โดยไม่มีการปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ