ข้อเสนอกำกับดูแลสื่อที่ดีกับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสื่อฯ

ข้อเสนอกำกับดูแลสื่อที่ดีกับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสื่อฯ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับมีกระแสคัดค้าน ร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง

สิทธิเสรีภาพสื่อ ฯ อย่างกว้างขวาง และในรายงานข่าวดังกล่าว มีการอ้างอิงถึงความเห็นของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า สภาองค์กรวิชาชีพสื่อควรมีบุคคลภายนอกมิใช่แต่ผู้ประกอบการสื่อร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยเฉพาะตัวแทนของรัฐ ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับร่างกฎหมายดังกล่าว

ผู้เขียนในฐานะของผู้จัดทำรายงาน เรื่อง รัฐและการแทรกแซงสื่อ เมื่อปี 2558 ซึ่งมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลจรรยาบรรณของสื่อ ขอชี้แจงสาระสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้และข้อเสนอแนะที่มีการนำเสนอ ดังนี้

รายงานเรื่องรัฐและการแทรกแซงสื่อได้วิเคราะห์ช่องทางที่รัฐจะสามารถแทรกแซงสื่อ 3 ช่องทาง ได้แก่ หนึ่ง การเป็นเจ้าของสื่อหรือการเป็นผู้ให้สัมปทานคลื่น เช่น วิทยุและโทรทัศน์ สอง การใช้อำนาจรัฐในการกำกับดูแลเนื้อหาที่สื่อนำเสนอ และ สาม การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซื้อสื่อ” เพื่อไม่ให้รายงานข่าวด้านลบของรัฐบาล

ผู้เขียนเห็นว่า การซื้อสื่อจะเป็นช่องทางสำคัญที่รัฐจะแทรกแซงสื่อได้มากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยได้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการออกใบอนุญาตทำให้ผู้ประกอบการสื่อ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ไม่ต้องวิ่งเข้าหารัฐวิสาหกิจเพื่อทำธุรกิจดังเช่นในอดีต การเปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 24 ช่องในปี พ.ศ. 2556 ยิ่งทำให้สื่อภายใต้การกำกับของรัฐ เช่น ช่อง 3 5 7 9 11 มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนน้อยลง ในขณะที่สื่อวิทยุนับวันยิ่งมีผู้ฟังน้อยลง

สำหรับการแทรกแซงสื่อผ่านการควบคุมเนื้อหานั้น งานวิจัย ณ เวลานั้นวิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้จำกัดอำนาจรัฐในการปิดกั้นการรายงานข่าวของสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ต

ด้วยข้อจำกัดของการทรกแซงสื่อในสองรูปแบบแรก งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งเน้นเสนอให้มีการวางนโยบายและมาตรการในการป้องกันมิให้รัฐ ซื้อสื่อ” โดยการกำกับ ผู้ซื้อ” ซึ่งหมายถึงรัฐ และ ผู้ถูกซื้อคือสื่อ

ในส่วนของ “ผู้ซื้อ” ผู้เขียนได้เสนอให้มีกลไกการกำกับควบคุมการใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอให้เกิดการร่าง พ.ร.บ. โฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ประชาชนยังต้องติดตามต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด

ในส่วนของ “ผู้ถูกซื้อ” ซึ่งมีประเด็นส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ ฯ ข้อสรุปของงานวิจัยจากการสำรวจรูปแบบการกำกับดูแลสื่อใน 7 ประเทศที่สื่อมีเสรีภาพและมีคุณภาพ เช่น ลักเซมเบิร์ก สวีเดน และ เดนมาร์ก พบว่า การกำกับดูแลสื่อผ่านสภาวิชาชีพสื่อมีอย่างน้อย 2 รูปแบบ ได้แก่ หนึ่ง การกำกับดูแลกันเองโดยสภาวิชาชีพ และ สอง การกำกับดูแลร่วมระหว่างสภาวิชาชีพร่วมและรัฐ โดยทั้งสองรูปแบบยังมีทั้งที่ให้สื่อเป็นสมาชิกแบบสมัครใจและบังคับให้สมาชิก

สำหรับบริบทของประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่ารูปแบบการกำกับดูแลสื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการให้มีกฎหมายที่บังคับให้สื่อทุกรายต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อ เนื่องจากการให้เป็นสมาชิกแบบสมัครใจเปิดช่องให้สมาชิกสื่อที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจรรยาบรรณของสภาวิชาชีพตัดสินใจลาออกจากสภาวิชาชีพได้ เมื่อถูกประนาม การบังคับใช้มาตรฐานจรรยาบรรณจึงเป็นไปได้ยาก

แต่ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นในองค์กรวิชาชีพสื่อว่ามีความเป็นกลางและไม่เล่นพรรคเล่นพวก กรรมการข้างมากของสภาวิชาชีพสื่อไม่ควรเป็นเจ้าของสื่อ บรรณาธิการและนักข่าวที่มีสังกัดตามโครงสร้างในปัจจุบัน เช่นโครงสร้างของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่มีเจ้าของสื่อและบรรณาธิการรวม 10 เป็นกรรมการจากจำนวนกรรมการทั้งหมด 21 คน อีกทั้งยังเป็นผู้เลือกแต่งตั้งกรรมการส่วนที่เหลือ โครงสร้างสภาการหนังสือพิมพ์จึงมีน้ำหนักไปทางเจ้าของสื่อและบรรณาธิการ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเห็นว่า สภาวิชาชีพสื่อจึงควรประกอบด้วย “บุคคลที่สาม” ที่มาจากภาคประชาชนและไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสมาชิกสื่อค่ายใด เช่น ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการด้านสื่อ ตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

โดยสรุป งานวิจัยชิ้นนี้เสนอให้สื่อยังคงกำกับดูแลกันเองอยู่เช่นเดิม โดยไม่มีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การกำกับดูแลกันเองนั้นต้องมีบุคคลภายนอกจากภาคประชาชนที่เป็นที่ยอมรับของสังคมเข้ามามีบทบาทกำหนดข้อบังคับด้านจรรยาบรรณและบังคับใช้ข้อบังคับดังกล่าว

-------------------

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ธิปไตร แสละวงศ์