ว่าด้วยเรื่อง..กระทรวงดีอี กระทรวงแห่งอนาคต

ว่าด้วยเรื่อง..กระทรวงดีอี กระทรวงแห่งอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 (ดีอี) ได้ตั้ง 2 หน่วยงานใหม่สังกัดกระทรวงดีอี ผลจาก พ.ร.บ.พัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2560 หน่วยงานแรกที่จัดตั้ง คือ สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และแต่งตั้งนางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดีอี ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการชั่วคราว รักษาการช่วงเวลา 180 วัน ก่อนคัดเลือกบุคคลมารับตำแหน่งต่อไป

หน่วยงานอย่างดีป้านั้น เป็นการโอนย้ายพนักงาน และทรัพย์สินทั้งหมดของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้าเข้ามา ซึ่งต้องเร่งตั้งกรรมการชั่วคราวขึ้นมาดำเนินการ หลังจากนั้นจึงแต่งตั้งกรรมการอย่างถาวรตามขั้นตอนของกฎหมาย ขณะที่ โครงการที่เป็นโครงการต่อเนื่อง และงบผูกพันโครงการ ซิป้าต้องทำแผนงานส่งต่อไปยังสำนักงานใหม่ คาดจะมีเงินส่งมอบให้สำนักงานใหม่ราว 300 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณปี 2559 ที่เหลือราว 30 ล้านบาท จากที่ได้มา 290 ล้านบาท และงบการเงินปีงบประมาณ 2560 ที่ได้รับมาอีก 270 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เสนอกรอบงบประมาณปี 2561 สำหรับสำนักงานใหม่ด้วยที่กรอบงบประมาณ 1,077 ล้านบาท

เป็นอีกหลายๆ ครั้งของกระทรวงนี้ ที่มักต้องปรับเปลี่ยนองคาพยพในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการมากที่สุด

ยุคนี้กระทรวงดีอี ไม่ได้เป็นกระทรวงรั้งท้ายเหมือนอดีต หากถูกวางเป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีความสำคัญยกระดับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการมุ่งไปสู่รัฐบาลดิจิทัล หรือดิจิทัล อีโคโนมี หรือไทยแลนด์ 4.0 ตามแต่จะเรียกชื่อกันไป

การเข้ามารับตำแหน่งของ ดร.พิเชฐ จึงเป็นการเข้ามารับหน้าที่ “สุดหิน” พ่วงด้วย “เผือกร้อน” สุดแสนจะท้าทาย เพราะกระทรวงนี้ไม่ได้มีแค่สำนักงานไก่กา หากแต่ต้องรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจหลักของประเทศอย่าง บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บริษัทไปรษณีย์ไทย ที่หนึ่งในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะ “ทีโอที” กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ที่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมออกมาชัดเจนให้รู้สึกได้ถึงความมีอนาคต เป็นภารกิจ (โคตร) หิน ของ ดร.พิเชฐ ที่มีพื้นฐานมีความเชี่ยวชาญในเชิงวิชาการ หากการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ “ไม่ง่าย” เหมือนเขียนงานวิชาการเหล่านั้น

การปรับเปลี่ยนหน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอี และรวมถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับประเทศของกระทรวง ที่เรียกว่าเป็นกระทรวงอนาคตประเทศ ยังคงเป็นที่จับตาและตอนนี้ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม มีแต่โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่แค่โครงการเดียว ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ความเป็นกระทรวงดีอีทั้งหมด มันต้องมีอะไรมากกว่านี้ เรื่อง “คน” เป็นสิ่งสำคัญ บุคลากรต้องทำงานกันได้จริง ต้องพร้อมปฏิบัติ สมกับเป็นกระทรวงสำหรับอนาคต ดังนั้นบุคลากรในสังกัดต้องปฏิบัติตัวให้ดูมีอนาคตด้วยเช่นกัน