การบริหารความเสี่ยงด้วยยางพารา 'ล่วงหน้า'

การบริหารความเสี่ยงด้วยยางพารา 'ล่วงหน้า'

การบริหารความเสี่ยง ด้วยยางพาราล่วงหน้า

ในปี 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างมากหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลประชามติ Brexit ที่เป็นทำให้ประเทศอังกฤษดำเนินการในการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือการที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนนั้น ภาคเศรษฐกิจกลับมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging Country ที่สูงถึง 4.2% อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่กลับมาอยู่ในระดับประมาณ 3% ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปีนี้

แนวโน้มการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์แต่ละประเภทแตกต่างกันไป โดยมูลค่าของตราสารหนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่มูลค่าของสินทรัพย์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) จะได้รับผลกระทบในเชิงบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Commodity ที่เป็นวัตถุดิบของภาคการผลิตจะมีราคาสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการของตลาดโลก เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ในตลาดโลกที่ขยายตัวถึง 5.9% มาอยู่ที่ระดับ 76.86 ล้านคัน ในปี 2559 ส่งผลให้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตล้อยางรถยนต์ปรับตัวขึ้นถึง 85% มาอยู่ใกล้เคียง 100 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน

การปรับตัวขึ้นของราคายางพารา นอกจากจะเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของ Demand ตามภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นผลมาจากปริมาณ Supply ที่ปรับลดลงจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ เหตุภัยแล้งในช่วงกลางปี 2559 เหตุอุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยรวมถึงโครงการของภาครัฐที่เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยาง 1 แสนไร่ต่อปีให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงพาณิชย์ประเภทอื่น นอกจากนี้ มาตรการสนับสนุนเชิงนโยบายจากสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียในการจำกัดปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติ ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคมที่ผ่าน ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปี 2559 โดยเฉพาะช่วงปลายปี

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 หรือ RSS3 ซึ่งเป็นสินค้ายางพาราที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับหนึ่งของโลกนั้น มีผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในปัจจุบัน เรามีการซื้อขายสัญญาซื้อขายยางแผ่นรมควันล่วงหน้าชั้น 3 หรือ RSS3D Futures เพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทั้งในช่วงที่ราคายางแผ่นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลง

RSS3D Futures เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) แบบชำระราคาด้วยการส่งมอบ (Physical Delivery) ที่อ้างอิงกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 โดยกำหนดขนาดสัญญาไว้ที่ 5,000 กิโลกรัมต่อสัญญา (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 450,000 บาทต่อสัญญาในปัจจุบัน) และมีขนาดการส่งมอบสินค้าอยู่ที่ 20,000 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของ RSS3 ที่บรรจุเต็ม 1 ตู้คอนเทนเนอร์ โดย RSS3 Futures ที่มีการซื้อขายในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นตลาดอนุพันธ์เซี่ยงไฮ้ในจีน (Shanghai Futures Exchange) ตลาดอนุพันธ์ในญี่ปุ่น (Tokyo Commodity Exchange หรือ TOCOM) และตลาดสิงคโปร์ (Singapore Exchange หรือ SGX) ต่างก็กำหนดให้มีการชำระราคาแบบให้มีการรับมอบส่งมอบ (Physical Delivery) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อขาย Futures เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงควบคู่ไปกับการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงช่วยให้เกิดการค้นพบราคาที่เหมาะสม (Price Discovery) และสามารถนำมาใช้เป็น Indicative Price สำหรับการซื้อขายสินค้าจริง (Spot Market) ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในด้านการส่งมอบนั้น จากสถิติทั้งในและต่างประเทศนั้น พบว่าสัดส่วนการส่งมอบจริงนั้นมีไม่มากนักโดยหากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือ AFET นั้น มีการส่งมอบอยู่ในระดับประมาณ 5% (สถิติในตลาดต่างประเทศจะมีสัดส่วนน้อยกว่านี้) การที่มีสัดส่วนการส่งมอบไม่มากนัก เนื่องจากโดยปกติผู้ที่ต้องการรับมอบส่งมอบนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ประกันความเสี่ยง และผู้ลงทุนเหล่านี้สามารถเลือกได้ที่จะปิดสถานะ Futuresและรับเงินที่เป็นกำไรขาดทุนจากการซื้อขาย Futures และซื้อขายสินค้าจริงจากคู่ค้าที่ทำการค้ากันปกติแทน หรืออาจเลือกที่จะรับมอบส่งมอบสินค้าจริงตามกระบวนการของตลาดก็ได้ โดยในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วทั้งสองทางเลือกไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี การกำหนดให้มีการส่งมอบจริง หรือ Physical Delivery นั้น ก็มีข้อดีในการช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าราคาชำระราคาสุดท้ายในตลาดอนุพันธ์จะมีความใกล้เคียงกับราคาในตลาด Spot

เพื่อสนับสนุนการซื้อขายยางพาราล่วงหน้า ในปีนี้ TFEX มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับยางพาราทั้งในด้านพื้นฐานและเทคนิค ทั้งที่เกี่ยวกับสภาพการณ์และแนวโน้มราคายางพารารวมถึงการซื้อขายยางพาราล่วงหน้า RSS3D Futures โดยจะเน้นการเรียนรู้ที่นำไปประยุกต์ได้จริงและใช้โปรแกรม Simulation ให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งยังได้ส่งเสริมสภาพคล่องการซื้อขาย RSS3D Futures โดยจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย RSS3D Futures ด้วยความมั่นใจมากขึ้น