No-Nonsense

No-Nonsense

การทำงานแบบ Nonsense ทำให้เสียเวลาหรือถึงขั้นเสียหาย

ในบทบาทที่ปรึกษากฎหมายนั้น ผมได้พบความจริงที่สำคัญข้อหนึ่งคือ งานเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นงานที่ดูเหมือนยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด จะมีข้อเท็จจริงที่สำคัญเพียงไม่กี่ข้อ มีประเด็นที่สำคัญเพียงไม่กี่ประเด็น และมีเรื่องที่จะต้องทำให้สำเร็จโดยเร่งด่วนก่อนลงมือทำเรื่องอื่นๆ เพียงไม่กี่เรื่อง

แต่ในการทำงานที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งที่เป็นฝ่ายเดียวกัน ฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายอื่นๆ นั้น ผมกลับพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานด้วยอาการ 'หลงข้อเท็จจริง' คือ นำข้อเท็จจริงจำนวนมากมาวิเคราะห์อย่างเอาเป็นเอาตายทั้งๆ ที่มีส่วนสำคัญในผลสำเร็จของงานน้อยมากหรือไม่มีเลย หรือ 'หลงประเด็น' คือ เห็นทุกประเด็นสำคัญเท่าเทียมกันไปหมด ทั้งประเด็นที่สำคัญจริงและประเด็นที่มีส่วนสำคัญในผลสำเร็จของงานน้อยมากหรือไม่มีเลย หรือ 'หลงความเร่งด่วน' คือ ทุ่มเททำเรื่องที่มีส่วนสำคัญในผลสำเร็จของงานน้อยมากหรือไม่มีเลยก่อนหรือพร้อมๆ กันไปกับเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้สำเร็จโดยเร่งด่วน 

การทำงานด้วยอาการ 'หลง' เหล่านี้ บ่อยครั้งจะถูกสรุปว่าเป็นการทำงานโดยไม่ใช้ Common Sense หรือทำงานแบบ Nonsense ซึ่งทำให้เสียเวลาหรือถึงขั้นก่อให้เกิดความเสียหาย

การที่จะทำงานแบบ No-Nonsense คือ สามารถกำหนดประเด็น ข้อเท็จจริง หรือลำดับความสำคัญของงานให้ได้โดยชัดแจ้งไม่มีอาการหลงนั้น คนทำงานจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า อะไรสำคัญที่สุดต่อผลสำเร็จของงานและหาคำตอบให้ได้ เมื่อได้รับคำตอบแล้ว ก็จะสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงข้อไหนและประเด็นที่เกี่ยวข้องประเด็นใด รวมทั้งจะทุ่มเททำเรื่องไหนก่อน

ผมพบว่าคนที่ทำงานแบบ No-Nonsense จะต้องเป็นคนที่มีพื้นฐาน (Basics) ดีมากทั้งในเรื่องวิธีการคิดทั่วๆ ไป และในส่วนของหลักการรวมทั้งองค์ความรู้ในปัญหาที่จะต้องพิจารณา ซึ่งเมื่อพื้นฐานดีก็จะสามารถแยกแยะเรื่องต่างๆ ได้ชัดเจนว่าส่วนใดเป็นแก่นที่มีความสำคัญมาก และส่วนใดเป็นเปลือกหรือกระพี้ที่มีความสำคัญน้อยหรือไม่มีความสำคัญเลย และทำให้ตัดสินใจกำหนดได้ว่าอะไรสำคัญที่สุดต่อผลสำเร็จของงาน

คนที่ยึดถือการทำงานแบบ No-Nonsense นั้นมีไม่น้อย แต่คนๆ หนึ่งที่ผมจะนึกถึงเสมอคือ

คุณไชย ณ ศีลวันต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัท แอ๊ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด (Advance Aviation Co,. Ltd.) ซึ่งทำกิจการให้เช่าเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว

ในอดีตคุณไชยเป็นนักการเงินและนักการธนาคารที่มีชื่อเสียง ผมจึงมีโอกาสได้ทำงานสำคัญๆ ร่วมกับคุณไชยหลายเรื่องเมื่อประมาณสิบปีมาแล้ว เช่น การขายหุ้นที่ครอบครัวเบญจรงคกุลถืออยู่ใน DTAC ให้แก่ Telenor, การปรับโครงสร้างหนี้ของ ITD, การปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่ม Double A และการปรับโครงสร้างองค์กรของ GMM เป็นต้น

ในการทำงานร่วมกันนั้น ผมพบว่าคุณไชยจะไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานไม่ว่าฝ่ายใดมานำเสนอข้อมูลหรือความคิดเห็นแบบ Nonsense เลย โดยจะทักท้วงและตั้งคำถามซึ่งทำให้คนที่ถูกท้วงต้องไปทำการศึกษาหรือวิเคราะห์เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนความคิดเห็นเสมอ

การทำงานแบบ No-Nonsense ในรูปแบบของคุณไชยนี้ มักจะทำให้ผู้ร่วมงานที่มีพื้นฐาน (Basics) ไม่ดีนักในเรื่องวิธีการคิดทั่วๆ ไป หรือในส่วนขององค์ความรู้ รู้สึกว่าทำงานด้วยความยากลำบาก แต่ผมเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานยากๆ หลายเรื่องสำเร็จลงได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ร่วมงานที่สนใจใฝ่รู้ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองโดยเริ่มเข้าใจว่าอะไรสำคัญที่สุดต่อผลสำเร็จของงาน จนมีความกล้าพอที่จะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นประเด็นรองหรือมีความสำคัญหรือความเสี่ยงน้อย ในขณะที่มีความจำเป็นที่จะต้องให้เวลาอย่างเพียงพอในการจัดการกับเรื่องที่สำคัญที่สุดให้สำเร็จลุล่วงอย่างทันท่วงทีก่อน

'Until you figure out what matters most, it’s going to be difficult to know how to organize your time, develop a strategy, an execute tactically.' (จากหนังสือ Be the Best at What Matters Most เขียนโดย Joe Calloway)