เปิดใจสร้างสุขในงาน

เปิดใจสร้างสุขในงาน

ผู้เขียนเชื่อว่า เริ่มปีใหม่ คนทำงานทุกคนก็ล้วนอยากให้ชีวิตงานของตนนั้น มีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า

และหากการทำงานเมื่อปีก่อนไม่มีความสุข   ปีนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เรามักจะใช้เป็นโอกาสในการให้คำมั่น หรือคำขอ ให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น   เพื่อให้ชีวิตการทำงานทุกช่วงขณะเต็มไปด้วยความสุข

ทว่าเราแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังทำงานอย่างไม่มีความสุข  ข้อมูลจากบล็อกของ “อเล็กซานเดอร์” ผู้บริหารงานสร้างสุข ได้ระบุ 10 พฤติกรรมที่เป็นสัญญาณบอกว่า  เรากำลังไม่มีความสุขกับการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย  1.ทำงานแบบผัดวันประกันพรุ่ง เรื่องที่ปกติใช้เวลาทำไม่นานก็กลายเป็นใช้เวลาทำนานมาก ไม่เสร็จเสียที และถึงจะทำเสร็จก็ได้คุณภาพแบบขอไปที  2.ในวันอาทิตย์แทนที่จะคิดถึงวันจันทร์แสนสดใส กลับเต็มไปด้วยความวิตกกังวล รู้สึกงานที่จะต้องเจอวันพรุ่งนี้น่ากลัว ไม่อยากไปทำงาน 3.เริ่มพูดถึงเรื่องเงินเดือน หรือคุยถึงเรื่องคนที่ได้รับโปรโมท แล้วรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ 4.เริ่มไม่อยากให้ความร่วมมือกับใคร  รู้สึกอยากนิ่งเฉย พร้อมกับคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นเราที่ช่วยทำ”

5.เมื่อมาทำงานก็รู้สึกว่าแต่ละวันช่างยาวนาน คิดแต่เมื่อไหร่จะถึงเวลาเลิกงานเสียที 6.เริ่มบ่นว่าไม่มีเพื่อนสนิทที่ทำงาน 7.เริ่มไม่สนใจว่างานที่ทำจะออกมาเป็นอย่างไร 8.รู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องราวที่อยู่รายรอบ 9. เริ่มสงสัยว่าทำไมคนโน้นคนนี้ถึงมีแรงจูงใจในการทำงาน และ 10.เริ่มมีอาการเจ็บป่วยสารพัด เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เมื่อยเนื้อเมื่อตัว

แล้วเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สุขในการทำงานเหล่านี้อย่างไรดี ลองดูแนวทางของ “นาตาลี โคแกน” ผู้ก่อตั้งบริษัท แฮปปี้เออร์ ที่ให้คำปรึกษาด้านงานสร้างสุขและสุขภาพที่ดีไว้ว่า  มี 5 แนวทางที่สามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก และพิสูจน์แล้วว่า ได้ผลจริง โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย

เริ่มจาก 1.การทำให้เช้าวันใหม่เป็นวันที่ดีๆ โดยความรู้สึกในตอนเช้าจะเป็นตัวกำหนดความรู้สึกของมนุษย์เราตลอดทั้งวัน อารมณ์ความรู้สึกกับประสิทธิภาพในการทำงานนั้นสัมพันธ์กัน คนที่อารมณ์ดีตั้งแต่เช้า จะทำงานได้ดี  ติดต่ออะไรกับใครก็ง่าย สำเร็จไปหมด  รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องหาทางทำตอนเช้าให้สดใส โดยอาจดื่มกาแฟ ชา สูดอากาศ เดินเล่น ทักทายคนที่ชอบ หรืออาจจะใส่บาตรยามเช้าก็ได้

2.วางเรื่องที่จะต้องตัดสินใจในแต่ละวันให้น้อยลง เนื่องเพราะแต่ละการตัดสินใจนั้นต้องใช้พลัง และทำให้เหนื่อยล้าได้ โดยวิธีการก็คือ ทำให้บางส่วนของงานเป็นอัตโนมัติ เช่น  ลดการตัดสินใจเรื่องอาหารกลางวัน/เย็น  หรือถามตนเองว่าเรื่องที่ต้องตัดสินใจนั้นใหญ่โตเพียงใด และมีความเห็นกับเรื่องนั้นจริงจังแค่ไหน ถ้าไม่ก็อาจจะลดการตัดสินใจ

3.แสดงน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 33 ของคนทำงานที่อายุสามสิบกว่าขึ้นไป ที่ได้มีโอกาสช่วยงานเพื่อนร่วมงาน  จะรู้สึกทำงานอย่างมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ได้แสดงน้ำใจกับเพื่อนร่วมงานเลย   การแสดงน้ำใจนั้นทำได้หลายอย่าง  ซึ่งอาจเพียงถามไถ่ ช่วยโน่นนี่ ก็ทำให้ความสุขเกิดได้ทันที โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนยิ้มขอบคุณ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้จะกลายเป็นความสุขได้ก็ต้องเกิดจาก “ความจริงใจ” ในการที่จะทำ  และความสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือเขียนไว้ในปฏิทินส่วนตัวเพื่อเตือนว่าจะทำสิ่งนี้ในทุกวัน

4.รับรู้ความก้าวหน้าและความสำเร็จในทุกวัน ด้วยการเขียนสิ่งที่อยากจะทำให้สำเร็จในทุกเช้าก่อนที่จะเริ่มทำงาน เมื่อทำสำเร็จก็ขีดเรื่องนั้นออก โดยแต่ละวันให้กลับมาดูรายการที่เขียน ซึ่งแม้จะเป็นความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นได้ ซึ่งความรู้สึกดีๆ นี้มีค่าและมีความหมาย เป็นพลังในการทำงานต่อไป

และสุดท้าย 5.หาเวลาระลึกถึงสิ่งที่ทำและขอบคุณตัวเอง   ด้วยสมองของเรานั้นสามารถจดจำเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี  ดังนั้นเราจะต้องฝึกสมองของเราให้จดจำแต่เรื่องดีๆ  ด้วยการนึกถึงสิ่งที่เราได้ทำ แล้วรู้สึกปลื้ม รู้สึกดี จากนั้นให้เขียนบันทึกลงไป  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หากทำอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้เรากลายเป็นคนคิดบวก และทำให้อะไรๆ ในชีวิตมันดีไปหมด อย่างไรก็ตามบางทีก็เป็นการยากว่าเราจะจดจดเรื่องดีๆ นั้นตอนไหนดี จะระลึกหรือขอบคุณตนเองตอนไหนดี   ก็มีคำแนะนำว่า อาจจะเป็นการระลึกถึงเรื่องดี ก่อนที่จะเริ่มสตาร์ทรถกลับบ้าน หรือก่อนปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานก็ได้   

ขอให้เชื่อว่าการแบ่งปันเรื่องดีๆ  ในแต่ละวันนั้นเป็นการส่งต่อความคิดบวกที่ดีมากๆ แล้วจะทำให้คุณสามารถทำงานทุกวันได้อย่างมีความสุขค่ะ