'หุ่นยนต์' กำลังจะแทนที่ 'แรงงานมีฝีมือ'?

'หุ่นยนต์' กำลังจะแทนที่  'แรงงานมีฝีมือ'?

ไอดีซี บริษัทวิจัยแนวหน้าของโลก โชว์ผลสำรวจเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในตลาดเอเชีย ชี้ว่ามีแนวโน้มลงทุน

ใช้จ่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2559 เป็น 1.33 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 เติบโตต่อปีที่ 22%

ทิศทางดังกล่าวครอบคลุมถึงข้อมูลการซื้อโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับที่เบื้องหลัง คือ เทคโนโลยีควบคุมหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งทั้งใช้งานในระดับองค์กรและผู้ใช้ทั่วไป ทั้งชี้ว่าหุ่นยนต์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและยกระดับในอุตสาหกรรม ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเทคโนโลยี ที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาครั้งใหญ่ให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ตลอดจนสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้ลูกค้า

ในเอเชีย เริ่มเห็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานมากขึ้นนอกเหนือภาคการผลิต โดยเฉพาะมุมการค้าขายและหุ่นยนต์สำหรับบริการลูกค้า

นอกจากนี้เอเชีย แปซิฟิก ยังเป็นภูมิภาคที่ตลาดหุ่นยนต์เติบโตเร็วที่สุด โดยเฉพาะในตลาดจีน, เกาหลี และญี่ปุ่นมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 2 ใน การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทั่วโลก คาดว่าจะครองสัดส่วนในตลาดโลกเกิน 70% ภายในปี 2563

ไอดีซี ระบุว่า ปี 2559 ในตลาดเอเชีย “ภาคการผลิต” ยังคงเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับหุ่นยนต์มากสุด โดยเฉพาะการผลิตที่เป็นชิ้นส่วนต่างๆ (ดีสครีต) 33% และกระบวนการผลิตอีก 28% ตามมาด้วยการใช้งานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ด้านทรัพยากร, ลูกค้า และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ

ในเชิงเทคโนโลยี "เอเชีย แปซิฟิก ยังใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับระบบหุ่นยนต์ครอบคลุมถึงภาคอุตสาหกรรม, การบริการ และหุ่นยนต์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป คาดจะมีมูลค่าเติบโตถึง 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 ส่วนการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแอพพลิเคชั่น, การศึกษาและอบรม ตลอดจนการติดตั้งระบบ คาดจะเติบโตเกิน 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2563

ขณะที่ “ซิสโก้” ชี้ภาวะขาดคนไอทีในไทยวิกฤติยังหนัก แรงงาน 83.5% จัดอยู่ในจำพวก “ไม่มีฝีมือ” หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะฉุดการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากทักษะด้านดิจิทัลมีส่วนสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับระบบการทำงาน เกี่ยวข้องกับการยกระดับประสิทธิภาพธุรกิจ ข้อมูลยังระบุด้วยว่า 5 ปีข้างหน้า 4 ใน 10 บริษัทระดับท็อปในอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลโอกาสถูกเบียดจนตกชั้น  ข้อมูลของธนาคารโลกยังตอกย้ำอีกว่า 83.5% ของแรงงานทั้งหมดในไทยอยู่ในจำพวก “ไม่มีฝีมือ” และหลายปีมานี้ก็ไม่มีการพัฒนาที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่การจ้างงานมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ งานขาย บัญชี และไอที ด้านไอดีซีระบุไว้ว่า ปี 2566 ทั่วโลกจะขาดแคลนบุคลากรไอทีราว 2 ล้านตำแหน่ง

หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ตื่นตัวพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ยังไม่แก้ปัญหา ยังไม่อุดช่องโหว่ ยังนิ่งนอนใจ “หุ่นยนต์” จะกลายเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็น “ฝีมือ” ของมนุษย์

หรือนี่เรากำลังโดน “หุ่นยนต์” ในยุค “แมชชีน เลิร์นนิ่ง” คุกคามเสียแล้ว หุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้กระบวนการวิธีคิดของมนุษย์ และสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้คำสั่งของมนุษย์อีกต่อไป ภาพยนตร์หุ่นยนต์ครองโลก สั่งการมนุษยชาติคงไม่ไกลเกินสัมผัส