ตรวจสุขภาพตลาดรถปี 60

ตรวจสุขภาพตลาดรถปี 60

ตลาดรถยนต์ยังอยู่ในเส้นทางการถดถอย อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยทำตัวเลขพุ่งขึ้นไป 1.4 ล้านคันในปี 2555

 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการรถคันแรก จากนั้นเมื่อเชื้อเพลิงหมด ก็ค่อยๆ ร่วงลงมา และล่าสุดปี 2559 ที่ผ่านมา มียอดขายเฉียดๆ 7.7 แสนคัน ลดลงจากปีก่อนหน้าเกือบๆ 4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเก่าๆ ที่ยังสลัดไม่หลุด และปัจจัยลบใหม่หลายอย่างที่เข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลต่อการส่งออกของไทย ที่ระบบเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก หรือปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ทำให้เกษตรได้รับผลกระทบ 

ส่วนปัจจัยเก่า ก็คือ เรื่องของการที่ลูกค้าใช้เงินล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม ร้ายกว่านั้นก็คือ ผ่อนสินค้าอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาการเงิน กลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน และไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติ ทำให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินบอกว่าจะผ่อนคลายความเข้มงวดลง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังพบว่ายังไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตามบริษัทรถยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายราย ออกมาบอกในช่วงนี้ ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากพื้นฐานข้อมูล หรือว่าต้องการเสริมสร้างกำลังใจแก่กัน ก็คือบอกว่าปีที่แล้วเป็นการตกต่ำถึงขีดสุดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในปีนี้ก็คือ ตลาดไม่ขยายตัว และดีที่สุดคือตลาดจะโต 5%  

อย่าว่าแต่ 5% ขอแค่ 1% 2% ก็เชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่ค่ายรถผิดหวัง

ส่วนการที่เชื่อว่าตลาดจะกลับมาเริ่มต้นเติบโตได้อีกครั้ง เพราะว่าเมื่อตกลงถึงจุดต่ำสุดก็น่าจะมีแรงกระเด้งกลับขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้ก็เชื่อว่าปัจจัยลบหลายๆ อย่างเริ่มคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ ภัยแล้งจากเอลนิญโญ และอาจได้แรงหนุนจากโครงการลงทุนภาครัฐเพิ่มเติม

ส่วนแรงหนุนจากโครงการรถคันแรกที่ผู้ซื้อกลุ่มแรกๆ ครบกำหนดถือครอง 5 ปี ช่วงเดือน ต..ปีที่แล้ว ทำให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ค่ายรถมองว่าคงไม่ใช่ปัจจัยบวกที่ชัดเจนอะไร แต่อย่างน้อยก็ถืว่าเป็นเรื่องดีเพราะขอแค่ให้ไม่เป็นปัจจัยลบก็พอ 

ที่เชื่อว่าจะไม่ใช่ปัจจัยบวก เพราะเชื่อว่ามีการโอนลอยกันตั้งแต่ช่วงปีแรกของการซื้อรถเกิดขึ้นแล้ว ส่วนผู้ทำถูกต้องตามกฎ แม้จะถือครองครบ 5 ปี ก็มีจำนวนน้อยที่จะเปลี่ยนรถใหม่ เพราะ 1.โดยเฉลี่ยคนไทยใช้รถนานกว่านี้ และยิ่งเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ก็น่าจะยืดการใช้รถคันเดิมออกไป 2.ผู้ที่กัดฟันถือครองรถคันแรกจนครบกำหนดเวลา หากต้องขายรถออกไป ก็น่าจะเอาเงินก้อนดังกล่าวไปใช้ด้านอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม หากมองกลับมาในมุมของบริษัทรถยนต์ ถือว่าใจสู้ไม่ถอยเช่นกัน เพราะแม้จะเพิ่งผ่านตัวเลขติดลบไม่นาน แต่ก็เห็นความเคลื่อนไหว ทั้งด้านกิจกรรมการตลาด การเปิดตัวรถทั้งรุ่นใหม่ ทั้งไมเนอร์เชนจ์ต่อเนื่อง เดือนนี้มีแล้ว 2 รุ่น คือ ฮอนด้า ซิตี้ และนิสสัน โน๊ต ส่วนที่รอต่อคิวในเดือนเดียวกัน ก็มีทั้ง โตโยต้า วีออส มาสด้า 3 เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส 

เพราะค่ายรถถือคติว่า คนป่วยต้องมีกิจกรรมทำบ้าง ขืนนอนแหมบอยู่กับเตียง ก็มีแต่ทรุดกับทรุดเท่านั้นเอง