รายงานยอดค่าปรับ Cartel ทั่วโลกปี 2016

รายงานยอดค่าปรับ Cartel ทั่วโลกปี 2016

เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานสรุปยอดค่าปรับที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขัน

ทางการค้าทั่วโลก กำหนดเพื่อลงโทษธุรกิจต่างๆ กรณี Cartel (การตกลงร่วมกันผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน เช่น กำหนดค่าสินค้าหรือบริการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แทนที่จะกำหนดอย่างเป็นอิสระแข่งขันกันตามกลไกตลาด) สำหรับปี ค.ศ.2016 ซึ่งจากรายงานดังกล่าวสรุปได้ว่า ค่าปรับกรณี Cartel มียอดสูงกว่าปี 2015 กว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 เพิ่มขึ้นเป็น 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2016 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานที่กำกับดูแลทางด้านการแข่งขันทางการค้าทั่วโลก

จากรายงานของสำนักงานกฎหมายอัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาต่างก็มีท่าทีเดียวกันในการกำหนดค่าปรับจำนวนสูงมากและบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อลงโทษธุรกิจที่ตกลงร่วมกันอันมีผลเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน

หน่วยงานที่มียอดค่าปรับสูงเป็นอันดับหนึ่งในปี 2016 คือ European Commission ซึ่งมียอดปรับสูงสุดในประวัติการณ์คือ 4,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ยอดค่าปรับในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากคดีใหม่ๆ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนและหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เบี่ยงเบนความสนใจไปเอาผิดทางอาญากับตัวบุคคลที่สั่งการหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมากขึ้น ในขณะที่ในปี 2015 สหรัฐฯ มียอดค่าปรับจำนวนมากที่ได้มาจากกรณีปั่นอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการสอบสวนเสร็จสิ้น

Korea Fair Trade Commission หน่วยงานที่กำกับดูแลของประเทศเกาหลีใต้มียอดปรับสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่ 764.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ South African Competition Commission ซึ่งถึงแม้จะเพิ่งก่อตั้งเมื่อไม่นานมานี้แต่ได้กำหนดค่าปรับครั้งเดียวจำนวนสูงสุดถึง 110.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แนวทางการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าเพื่อลงโทษ Cartel น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันในอนาคต โดยในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะเพิ่มอำนาจและความแข็งแกร่งของหน่วยงานที่กำกับดูแลมากขึ้น เช่น ประเทศชิลี ประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกายังได้มีการปรับปรุงแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการผูกขาดเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพื่อป้องกันการผูกขาดในยุคโลกาภิวัฒน์

รายงานของสำนักงานกฎหมายอัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ ยังระบุอีกด้วยว่าการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าของ European Commission และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในปีนี้น่าจะยังคงเข้มแข็งเช่นเดิม แต่หน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรน่าจะต้องทำงานหนักมากขึ้นหลังจากการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

จากสถิติในปี 2016 เห็นได้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลทางด้านการแข่งขันทางการค้าทั่วโลกได้ใช้อำนาจในการกำหนดค่าปรับธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้รัฐและประชาชนได้ประโยชน์คือ นอกจากจะได้เป็นรายได้เข้ารัฐแล้วยังเป็นการลงโทษและป้องปรามไม่ให้ธุรกิจรวมตัวกันทำข้อตกลงต่างๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียหายจากการที่ไม่สามารถซื้อสินค้าหรือบริการในราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของไทยจะใช้อำนาจตามกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ที่จะออกมาในการลงโทษธุรกิจที่รวมตัวกันผูกขาดหรือลด หรือจำกัดการแข่งขันอย่างไร

แล้วพบกันใหม่ในคราวหน้าค่ะ