update แนวโน้มเศรษฐกิจจีนจากกรุงปักกิ่ง

update แนวโน้มเศรษฐกิจจีนจากกรุงปักกิ่ง

update แนวโน้มเศรษฐกิจจีนจากกรุงปักกิ่ง

สัปดาห์ที่แล้วผมมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนา dbAccess China Conference ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดโดยธนาคารดอยช์แบงก์ (พันธมิตรทางธุรกิจของบล.ทิสโก้) เพื่อให้นักลงทุนสถาบันจากทั่วโลกได้รับฟังมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดทุนจีน จากนักวิเคราะห์ของดอยช์แบงก์ และนักวิชาการจากภายนอก เช่น IMF, ADB, มหาวิทยาลัย Columbia, Princeton รวมทั้งผู้บริหารจาก 165 บริษัทชั้นนำของจีนอย่าง Alibaba, China Construction Bank, Tencent ฯลฯ

ข้อสรุปที่ผมได้จากงานสัมมนานี้ มีดังนี้

ข้อหนึ่ง แนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปีนี้ยังไม่น่าห่วง ผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่คาดว่า GDP จีน จะขยายตัวได้ราว 6.5% ในปีนี้ และถือเป็นระดับที่ใช้ได้สำหรับเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการปฏิรูป จริงๆ ถ้ารัฐบาลจีนอยากให้ GDP เติบโตมากกว่านี้ ก็ทำได้ไม่ยากเพราะจีนมีหนี้สาธารณะน้อย แต่จีนยอมให้เศรษฐกิจชะลอลงเพราะต้องการที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ จากที่เคยถูกขับเคลื่อนด้วยการลงทุนมาเป็นการบริโภค รวมทั้งลดการพึ่งพาการส่งออก และเน้นการสร้างภาคบริการมากกว่าภาคการผลิต แน่นอนว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจีนจะทำสำเร็จ แต่ถ้าจีนทำได้ เศรษฐกิจจีนจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมมาก

ปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการพูดถึงมาก ก็ยังคงมีอยู่แต่ไม่น่าห่วงมากเท่าไร เพราะปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเล็กๆ ในขณะที่สี่เมืองหลักอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และเสิ่นเจิ้น ไม่ได้มีปัญหา Oversupply ในระดับที่สูง ปัญหาที่น่าเป็นห่วงกว่า คือระดับหนี้สินที่สูงของภาคธุรกิจ (Overleverage) แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นของรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลกลางสามารถเข้าช่วยเหลือได้ถ้าจำเป็น และสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเหล่านี้ คือธนาคารท้องถิ่นขนาดเล็กๆ ดังนั้น โอกาสที่จะเกิด Financial Crisis ทั้งระบบ มีไม่มาก เพราะธนาคารขนาดใหญ่ของจีนยังคงแข็งแรงมาก

ข้อสอง ปัญหาใหญ่ที่สุดของจีน คือการบริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ (SOE) ซึ่งจีนมี SOE มากถึง 150,000 แห่ง และรายได้ของ SOE คิดเป็นเกือบ 40% ของ GDP ถึงแม้รัฐบาลจีนจะเข้าใจปัญหานี้ดี แต่การปฏิรูปกลับคืบหน้าช้ามาก และที่ช้าก็น่าเป็นเพราะ SOE เกือบหมื่นแห่งอาจต้องถูกปิดกิจการลง ซึ่งก็หมายความว่าคนจำนวนมากจะต้องตกงาน แต่ถ้าจีนไม่เร่งจัดการกับปัญหา SOE นักวิชาการจาก IMF คาดว่า GDP ของจีนมีโอกาสชะลอลงเหลือ 3% ภายในปี 2564

ข้อสาม เงินหยวนยังมีโอกาสอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (USD) ปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ บวกกับทิศทางการส่งออกที่ยังคงอ่อนแอของจีน ความล่าช้าในการปฏิรูป SOE และส่วนต่างดอกเบี้ยที่แคบลงระหว่างเงินหยวนกับ USD การที่จีนตัดสินใจลดน้ำหนัก USD ในตะกร้าที่ใช้ในการกำหนดค่าเงินหยวนเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก แต่ธนาคารกลางจีนไม่น่าจะปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าลงมากๆ แบบทันทีทันใด หรือทำการลดค่าเงิน แต่จะเข้าแทรกแซงเป็นระยะๆ เพื่อให้ค่าเงินค่อยๆ อ่อนลง ดอยช์แบงก์คาดว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าไปที่ 7.4 หยวนต่อ USD (จาก 6.9 ในปัจจุบัน) ภายในสิ้นปีนี้

ข้อสี่ ดอชย์แบงก์เชื่อว่าตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ จากการที่ตลาดหุ้นจีน Underperform ตลาดหุ้นทั่วโลกค่อนข้างมากในปีที่แล้ว ทำให้ Valuations ดูน่าสนใจขึ้น และถึงแม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในระดับที่ลดลง แต่แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตมากกว่าปีที่แล้ว เพราะฐานที่ต่ำและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น Investment Theme ที่ดอชย์แบงก์แนะนำคือ Reflation หรือการกลับมาของเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตสินค้า เพราะเงินเฟ้อหรือการเพิ่มขึ้นของราคา จะเป็นตัวเร่งให้ผู้ซื้อสินค้ารีบซื้อสินค้า (Restocking) ก่อนที่ราคาจะเพิ่มมากเกินไป

กล่าวโดยสรุป แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดทุนจีนยังดูไม่น่าตื่นเต้นมากนักในปีนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือนโยบายของสหรัฐฯ ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 45% และจะประกาศว่าจีนเป็น Currency Manipulator ตามที่นาย Donald Trump ได้ขู่ไว้หรือไม่ และจีนจะโต้ตอบอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าถ้าทำจริง ผลเสียจะตกอยู่กับผู้บริโภคของสหรัฐฯ เอง