'ทีวีดิจิทัล'ลุยต่อ

'ทีวีดิจิทัล'ลุยต่อ

เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาที่ “นีลเส็น” รายงานล่าสุดเดือน ธ.ค.2559 มีมูลค่า 9,552 ล้านบาท

 ติดลบ 2.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สถานการณ์การใช้งบโฆษณาเรียกว่าเริ่มกลับสู่ภาวะ “ปกติ” หลังจากเดือน ต.ค.-พ.ย.2559 ติดลบ 40% จากการปรับผังรายการและงดโฆษณา กรณีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต

ผลจากไตรมาสสุดท้าย ทำให้ปีก่อนอุตสาหกรรมโฆษณาปิดงบที่มูลค่า 1.07 แสนล้านบาท ติดลบ 11.69%

หากโฟกัสเฉพาะงบโฆษณา“ทีวี” สื่อหลักที่ครองเม็ดเงินสูงสุดกว่า 65% พบว่า“ฟรีทีวีรายเดิม"(ทีวีอนาล็อก) เดือน ธ.ค. ติดลบ 5.6% ดีขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่ติดลบ 60% และ พ.ย.ติดลบ 55% ขณะที่ “ทีวีดิจิทัล” ช่องใหม่ เดือน ธ.ค. เติบโต 15% ส่วนเดือน ต.ค. ติดลบ 47% และเดือน พ.ย. ติดลบ 43%

เรียกว่าสัญญาณ“ฟื้นตัว”เริ่มเห็นตั้งแต่ เดือน ธ.ค. ต่อเนื่องถึง ม.ค.ปีนี้  ที่มีเดีย เอเยนซี ประเมินว่าการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ หลังสินค้าและแบรนด์ต่างๆ “อั้น” ใช้งบประมาณมาตั้งแต่ปลายปี เริ่มทำการตลาดปล่อยแคมเปญตั้งแต่ต้นปี หวังชิงกำลังซื้อ ตุนรายได้เข้ากระเป๋าไว้ก่อน เพราะไม่ต้องการรอลุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 

สถานการณ์ดังกล่าวจึงเห็นการขยับของกลุ่ม “ทีวีดิจิทัล” ต่างเดินหน้าเข็นคอนเทนท์ใหม่ลงผัง หวังขยายฐานผู้ชมเพิ่มขึ้นจากกลุ่มเดิม โดยช่อง“ผู้นำ” ทั้งเวิร์คพอยท์, โมโน29, ช่อง8, ช่องวัน ที่ติดกลุ่มท็อปไฟว์เรทติ้งสูง ต่างเปิดแผนลงทุนต่อเนื่อง ด้วยงบด้านคอนเทนท์กว่า 700 ล้านบาทต่อช่อง  

ทั้งยังประกาศ ขึ้นราคาโฆษณา ยกแผง ที่ระดับ 30-50% ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ ตั้งแต่เดือน ม.ค.นี้  นอกจากนี้ “เวิร์คพอยท์และอาร์เอส” ยังโชว์ตัวเลขยอดขายโฆษณาล่วงหน้า 50% ของเป้าหมายรายได้ทีวี  โดยเวิร์คพอยท์ คาดปีนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ย้ำฐานะเรทติ้งอันดับ 3 และช่อง 8 อาร์เอส ที่ 2,000 ล้านบาท ส่วนอีก 50% ของพื้นที่ขายโฆษณาทีวี เก็บไว้ลุ้นเรทติ้งขยับ เพื่อหวังปรับราคาโฆษณาขึ้นอีกรอบ!

การเดินเกมรุกของทีวีดิจิทัลปีนี้ หลังจากได้รับปัจจัย“บวก” จากคำสั่งคสช. มาตรา44  ขยายเวลาจ่ายใบอนุญาตทีวีดิจิทัลอีก 3  ปีที่เหลือ เป็น 6 ปี  ทำให้การจ่ายเงินต่อปีมีสัดส่วน “ลดลง” และคิดดอกเบี้ยเงินส่วนต่างที่จ่ายช้าอัตรา 1.5% ต่อปี ทำให้มีเงินลงทุนมาพัฒนาคอนเทนท์มากขึ้นในปีนี้

เมื่อจำนวนผู้ชมมากขึ้น สัญญาณใช้งบโฆษณาฟื้นตัว “สื่อทีวี” ที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ สัดส่วน 98% หรือสามารถสื่อสารกับผู้บริโภควงกว้าง จึงยังเป็น “ตัวเลือก”ใช้งบโฆษณา โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล ที่มีเรทติ้งสูง แต่ราคายังไม่สูงเท่าฟรีทีวีรายเดิม จึงเป็นทางเลือกของผู้ใช้เงินโฆษณา

อีกทั้งในฐานะ“คอนเทนท์ โปรวายเดอร์” ซึ่งเป็นเจ้าของเนื้อหารายการที่ผลิตและออกอากาศทางสถานีทีวีเอง  “ทีวีดิจิทัล”จึงเดินหน้า “ผสานหน้าจอ” ส่งคอนเทนท์ไปนำเสนอใน“ดิจิทัล แพลตฟอร์ม" ที่ผู้บริโภคนิยมใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ยูทูบ ไลน์ เพราะเป็นอีก"ช่องทาง" เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหารายการ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ชมที่พลาดจาก"จอทีวี"

นอกจากนี้ยังเป็น“ช่องทาง”หารายได้จากโฆษณาสื่อออนไลน์ ที่กำลังอยู่ในช่วง“ขาขึ้น”  ปัจจุบันทีวีดิจิทัล เริ่มเห็นตัวเลขเป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่าง “เวิร์คพอยท์” ​ที่นำรายการเผยแพร่ทาง “เฟซบุ๊คและยูทูบ”พบว่ามีรายได้ยูทูบ แชนแนล ที่มีผู้ติดตามราว 5 ล้านราย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2558 อยู่ที่ 20 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 60 ล้านบาท คาดปีนี้แตะ 100 ล้านบาท  ส่วนช่องทางออนไลน์อื่นๆ ปีนี้อยู่ที่ 20 ล้านบาท

สัญญาณฟื้นตัวโฆษณาและมาตรการหนุนภาครัฐ พร้อมทั้งการพัฒนาคอนเทนท์และเชื่อมโยงสื่อออฟไลน์-ออนไลน์ จึงทำให้“ทีวีดิจิทัล”ยังเห็นโอกาสสร้างรายได้