ถึงเวลาประเทศไทยมีกระทรวงอนาคต?

ถึงเวลาประเทศไทยมีกระทรวงอนาคต?

ภายหลังการปรับ ครม.ครั้งล่าสุดผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

คำถามที่ถามกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนใหม่ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็คือท่านจะให้นโยบายอย่างไร สศช.ต้องปรับบทบาทรองรับภารกิจในอนาคตอย่างไรหรือไม่?

ดร.สุวิทย์บอกว่า สภาพัฒน์ จะมีบทบาทที่สำคัญมากในช่วงการปฏิรูปประเทศ เพราะตามรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อรวมกับงานหลักๆ ที่สภาพัฒน์ต้องดูแล และเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการระดับชาติ คงจะต้องมาดูว่าบทบาทของหน่วยงานที่ถือเป็นคลังสมอง ของรัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังปรับเปลี่ยนไป

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ดร.สุวิทย์หยิบยกขึ้นมาก็คือประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่จะคอย มอนิเตอร์อนาคต หมายความว่ายังไม่มีหน่วยงานที่สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ซึ่งกรณีของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้าหลายประเทศสามารถวางแผนทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ รองรับเทรนด์นี้ได้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ส่วนประเทศไทยเพิ่งจะมีการสั่งการให้ทำแผนรองรับขณะที่หลายประเทศเดินสายพานการผลิตแล้ว

ท่ามกลางโลกที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็วของโลกในศตวรรษที่ 21 หน่วยงานที่จะทำหน้าที่จับตามองอนาคต จะต้องมีขีดความสามารถในการวิเคราะห์และเสนอแนะต่อรัฐบาลหรือผู้บริหารสูงสุดของประเทศ และนำไปสู่การกำหนดแผนและนโยบายอย่างทันท่วงทีเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น “Future Planning Unit” ได้อย่างเป็นระบบและทันท่วงทีหากประเทศไทยต้องการแข่งขันได้ในเวทีโลก

บทบาทของสภาพัฒน์ในอนาคตอาจจะต้องยกระดับเป็น "กระทรวงแห่งอนาคต" (Ministry of future) หรือยกระดับเป็นหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ในการวางแผนโดยมุ่งตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งในต่างประเทศเหมือนกับที่สวีเดนมีกระทรวงอนาคตที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตสีเขียว การสร้างงาน และการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่วนประเทศเกาหลีใต้ก็มีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการวางแผนอนาคต

...กลับมาดูที่ความเป็นจริงในปัจจุบันการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อรองรับความท้าทายในอนาคตยังคงใช้รูปแบบการตั้งคณะกรรมการ เริ่มศักราชปี 2560 ก็มีการจัดคณะกรรมการตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง 

ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ก็จะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานขึ้นมาเพิ่มเติมจนเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ การบริหารงานในแนวราบที่ควรเกิดขึ้นเพื่อให้งานเดินหน้าได้รวดเร็วก็กลายเป็นผลตรงกันข้าม เรื่องเร่งด่วนก็อาจกลับกลายเป็นเรื่องล่าช้า และไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติในที่สุด

หวังว่าการจัดตั้งคณะกรรมการชุดล่าสุด จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม