การลงทุนภายใต้ภาวะ Rising Interest Rate

การลงทุนภายใต้ภาวะ Rising Interest Rate

เป็นที่ชัดเจนและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า ตั้งแต่ที่ ว่าที่ประธานาธิบดี (President-Elect) โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ที่สะท้อนออกมาผ่านตลาดซื้อขายพันธบัตร ได้ดีดตัวขึ้นอย่างรุนแรง โดยอัตราพันธบัตรอ้างอิงอายุ 10 ปี ได้ดีดตัวขึ้นจากระดับประมาณ 1.80% ไปแตะจุดสูงสุดในช่วงนี้ที่ระดับ 2.64% (คิดเป็นการปรับตัวขึ้นถึงร้อยละ 47) ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.4% ณ ปัจจุบัน (10 ม.ค.2560) 

ในช่วงเวลาเดียวกันสำหรับที่บ้านเรา หลังจากที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง อัตราดอกเบี้ยในบ้านเรา ที่สะท้อนออกมาผ่านตลาดซื้อขายพันธบัตร ก็ได้ดีดตัวขึ้นอย่างรุนแรงเฉกเช่นเดียวกัน โดยอัตราพันธบัตรอ้างอิงอายุ 10 ปี ได้ดีดตัวขึ้นจากระดับประมาณ 2.20% ไปแตะจุดสูงสุดในช่วงนี้ที่ระดับ 2.95% (คิดเป็นการปรับตัวขึ้นถึง 34%) ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.75% ณ ปัจจุบัน (10 ม.ค. 2556)

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการระบบธนาคารกลางของสหรัฐ หรือ US Federal Reserve System ในวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีมติปรับอัตรา Fed Fund Rate ขึ้น หนึ่งสลึง หรือ 0.25% โดยปรับเพิ่มจาก 0.5% ไปเป็น 0.75% และยังได้มีการรายงานใน Fed Dot Plot ที่สามารถตีความได้ว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Fed Fund Rate น่าจะอยู่ที่ประมาณอีก 3 ครั้ง (ครั้งละสลึง) โดย Fed Fund Rate ตาม Dot Plot ล่าสุด มีค่ากลางที่ประมาณ 1.50%

แต่ Dot Plot นี้ก็ไม่แน่เสมอไป เห็นจากในปี 2559 ทั้ง ๆ ที่ Dot Plot เมื่อสิ้นปี 2558 ได้แสดงค่าว่า Fed Fund Rate ควรจะถูกปรับขึ้นถึง 4 ครั้ง แต่ในความเป็นจริงในปี 2559 Fed Fund Rate ได้ถูกปรับขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผู้คนในตลาดส่วนใหญ่ก็เริ่มมีความเชื่อกันแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วในอนาคต

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จริง ๆ การเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรองรับกับสภาพดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่มีผลประกอบการที่ผูกติดหรืออ้างอิงไปกับอัตราดอกเบี้ย และก็เชื่อได้ว่า นักวิศวกรรมการเงินในสถาบันการเงินแทบทุกแห่งก็คงได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

แต่สำหรับการเตรียมความพร้อมของนักลงทุนทั่ว ๆ ไป Schwab Trading Services Learning Center ของบริษัท Discount Broker ยักษ์ใหญ่ Charles Schwab (www.schwab.com) ได้แสดงกลยุทธ์การลงทุนภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวไว้ให้เป็นทางเลือก 6 ทางดังนี้

1. ขายตราสารหนี้ทิ้งบางส่วนและถือครองเงินสดไว้แทน

2. ปรับพอร์ตตราหนี้โดยมุ่งเน้นที่จะถือตราสารหนี้อายุสั้น ๆ แทน

3. สร้าง Bond Ladder หรือ บันไดตราสารหนี้

4. ซื้อ Variable Rate Instruments

5. ซื้อ Interest Rate Hedged Funds หรือ ETFs

6. ซื้อ Inverse ETF or Funds

สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2 ก็ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ว่าเป็นการมุ่งเน้นให้มีสภาพคล่องไว้ใกล้มือเพื่อที่จะนำออกมาใช้ได้หากอัตราดอกเบี้ยได้มีการปรับขึ้นมา แต่ก็มีข้อเสียเนื่องจากการถือครองเงินสด หรือ ตราสารหนี้อายุสั้น ๆ นั้นให้ผลตอบแทนน้อยมาก ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสการลงทุนไปหากอัตราดอกเบี้ยมิได้มีการปรับเพิ่มขึ้นจริง ๆ

ขณะที่ทางเลือกที่ 3 ซึ่งก็คือ การสร้าง Bond Ladder หรือ บันไดตราสารหนี้ คือ การเข้าซื้อหรือถือครองตราสารหนี้หลาย ๆ ตัว ที่มีอายุครบกำหนดแตกต่างกันไป อาทิ 1 ปี 2 ปี 3 ปี ....จนถึง 10 ปี ด้วยเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเท่า ๆ กันทุกปี ซึ่งหากดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นในอีก 1 ปี ข้างหน้า นักลงทุนก็ไม่เสียโอกาสโดยสามารถนำเงินที่ตราสารหนี้ครบกำหนดอายุมาลงทุนต่อได้เลย

สำหรับทางเลือกที่ 4 ซึ่งเป็นซื้อ Variable Rate Instruments คือการเลือกลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่มีผลตอบแทนแปรผันไปตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด เช่น มีการกำหนดอัตราคูปองหน้าตั๋วไว้อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลอายุ x ปี ในอนาคต เป็นต้น

และสุดท้ายสำหรับทางเลือกที่ 5 และทางเลือกที่ 6 เป็นการเลือกลงทุนในกองทุนที่มีอัตราผลตอบแทนเป็นในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเลือกลงทุนได้หลายแนวทางไม่ว่าจะเป็นผ่าน Hedge Fund, Mutual Fund, หรือจะเป็น Inverse ETFs ซึ่งมีให้เลือกเยอะแยะมากในสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่า Fund ลักษณะที่กล่าวมานี้จะยังไม่มีในประเทศเรา