สูตรสร้างสุขฉบับ “โค้ชจิตอาสา”

สูตรสร้างสุขฉบับ “โค้ชจิตอาสา”

ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จักโครงการดีๆชื่อ“สร้างสุขให้ครู ส่งคุรุให้เด็ก”กิจกรรม CSR Charity จากโครงการโค้ชเพื่อประเทศไทย(Coaching For Thailand)

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของ “การประชุมพันธมิตรโค้ชแห่งเอเชียแปซิฟิก 2017” (APAC  2017 Coaching Conference) ที่ประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัท จิมมี่ เดอะ โค้ช (Jimi The Coach Group : JTCG) จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2560 นี้ เลยอยากแบ่งปันให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบ

อาชีพโค้ช เป็นอาชีพที่ถูกพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน พวกเขาอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก องค์กรแถวหน้าของประเทศไทย ว่ากันว่าล้วนมี “โค้ช” ของตัวเองกำกับทิศทางธุรกิจอยู่ทั้งนั้น คนเป็นโค้ช มีทั้งประสบการณ์และทักษะความรู้ มีความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของคนในด้านต่างๆ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด และอยู่บนความคาดหวังของใครต่อใครอยู่มาก

พอได้รู้ว่ามีโค้ชอยู่กลุ่มหนึ่ง เลือกแบ่งเวลาจากวิชาชีพของตัวเอง มาเป็นโค้ชจิตอาสา เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ทักษะการโค้ชให้เข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้าง โดยเฉพาะพวกเขาเลือกทำกับกลุ่มที่เป็นกำลังสำคัญของชาติและกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการโค้ช อย่าง ทหาร ครู/นักเรียน แพทย์/พยาบาล ตำรวจ และผู้ต้องขังชั้นดี  ก็ยิ่งกระตุ้นความสนใจของผู้เขียนมากยิ่งขึ้น

“โค้ชจิมมี่-พจนารถ ซีบังเกิด” ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง JTCG เล่าให้ฟังว่า การโค้ชแบบจิตอาสา ด้วยทักษะการโค้ชเพื่อพัฒนาศักยภาพจากภายในตัวตน หรือที่เรียก ทักษะไลฟ์ไค้ช (Life Coach) นั้นจะเป็นการกระตุ้นและจุดประกายความคิด โดยใช้ทักษะและกระบวนการสร้างสรรค์ในหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ได้รับการโค้ชตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเอง มองเห็นศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง ด้วยตนเอง เข้าใจ และขจัดอุปสรรคที่อาจมีอยู่ภายในตัว ตัดสินใจเลือกโดยอิสระ แล้วนำเอาศักยภาพและความสามารถที่มีและอาจยังซ่อนอยู่ออกมาใช้ เพื่อนำตัวเองไปสู่ความสุข

เธอยกตัวอย่าง การโค้ชกลุ่มคุณครู ที่จะทำให้ครูสามารถนำการโค้ชนี้ไปโค้ชเด็กๆ ต่อไป หรือเปลี่ยนเป็นครูที่มองเห็นศักยภาพที่ตัวเด็กมากขึ้น โดยไม่ตัดสินเด็กจากคะแนนเท่านั้น ทว่ามองเห็นความสามารถและสามารถดึงเอาศักยภาพของเด็กออกมาได้ด้วย

โค้ชจิมมี่ ยกตัวอย่าง ครูท่านหนึ่งตั้งสมการไว้ว่า “ชีวิต คือ ความสนุกสนาน” แต่การสอนหนังสือทุกวันจะสนุกได้อย่างไร เพราะต้องทำงานซ้ำๆ เลยรู้สึกไม่สนุก ตื่นเช้าขึ้นมาเหมือนต้องไขลานตัวเอง บางทีก็รู้สึกว่าตัวเองแก่เกินไป ไม่ใช่ยุคของเขาบ้าง บางคนคิดถึงขนาดที่ว่า จะลาออกไปทำอาชีพอื่นก็มี แต่พอได้พูดคุยผ่านการโค้ช ครูท่านนั้นถึงเริ่มรู้สึกว่า เขาแค่ไม่ยอมรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง เลยรู้สึกเบื่อ ไม่สนุก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตทุกวัน เป็นความท้าทายที่เราไม่รู้มาก่อนทั้งนั้น และนี่แหละคือความสนุก เพียงแค่เปิดใจยอมรับก็จะมีความสุขกับชีวิตแล้ว

เรื่องเล่าจากโค้ชจิมมี่ เหมือนจุดประกายความคิดผู้เขียนขึ้นมาทีเดียว เพราะเชื่อว่าไม่ใช่แค่อาชีพครูที่บางครั้งเราอาจเหนื่อย ท้อ และเบื่อหน่ายกับงานของตัวเองเท่านั้น แต่ทุกอาชีพก็ล้วนเจอสถานการณ์เดียวกันนี้ทั้งนั้น แต่เพียงแค่เรายอมรับกับความเปลี่ยนแปลง และมองหาความสนุกจากงานในมุมใหม่ๆ ไม่ว่างานอะไรก็อาจสนุกและให้ความสุขกับเราได้มากกว่าเดิมท่านั้น

ผลจากการที่โค้ชระดับประเทศ เข้าไปโค้ชให้กับกลุ่มคุณครู ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ โดยตรง ทำให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาของไทยที่ฝังรากลึกมานาน ซึ่งถ้าครูมีความสุข เด็กก็จะมีความสุขไปด้วย เมื่อเด็กมีความสุขก็จะเปิดใจเรียนรู้ การเรียนก็จะดีขึ้นได้ เหมือนที่ “อาจารย์ดาราวรรณ ศรีกาญจนา” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหลักสี่ (ทองใบทิวารีวิทยา) หนึ่งในโรงเรียนนำร่องโครงการ Coaching For Thailand  ที่บอกว่า การโค้ชสำหรับครูครั้งนี้ เป็นการส่งความสุขให้คุณครูได้อย่างแท้จริง เพราะทำให้เกิดการปล่อยวางสิ่งที่บั่นทอนความสุข และเมื่อครูส่งต่อไปยังเด็กๆ โดยสอนเด็กให้มีทักษะชีวิตและนำไปใช้ในการดำรงชีวิต ไม่เน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ก็นับเป็นการส่งต่อความสุขไปให้กับเด็กๆ ด้วย

แน่นอนว่าสุดท้ายคนที่จะสุขที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า ก็คือเหล่า “โค้ชจิตอาสา” ที่ลงไปทำเรื่องดีๆ ในครั้งนี้