ผลกระทบความผันผวนของศก.โลกต่อทิศทางการเติบโตของศก.ไทย(1)

ผลกระทบความผันผวนของศก.โลกต่อทิศทางการเติบโตของศก.ไทย(1)

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงสามปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกก็เริ่มปรับตัว

เข้าสู่ทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยสะท้อนจากหลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในปี 2017 (หรือเป็นตัวเลขการคาดการณ์ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2016 ที่มีอัตราการเติบโตคาดการณ์เท่ากับร้อยละ 1.6) ขณะเดียวกันหลายฝ่ายยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงระดับเดียวกับปี 2016 และเศรษฐกิจของประเทศกำลังเกิดใหม่อาจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอาจจะทรุดตัวลงต่อไปเนื่องจากกำลังการซื้อของสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัว และยังถูกซ้ำเติมประเทศภาคีสมาชิกสำคัญอย่างอังกฤษขอถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในปีที่ผ่านมา (ตัวเลขการคาดการณ์จาก IMF และ CEIC)

ดังนั้น กล่าวรวมๆ คงอนุมานได้ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้คงเผชิญความผันผวนของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มีประเด็นจับตาอยู่หลายอย่าง นั่นคือ ปัจจัยการดำเนินนโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะเกิดผลต่อการปรัวตัวของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศมากน้อยเพียงใด และปัจจัยราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะกลายเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงฉุดให้เศรษฐกิจโลกเติบโตหรือหดตัวกันแน่

เหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเข้าไปเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจโลกระดับสูง ทั้งการเชื่อมโยงของภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน ดังนั้น จึงไม่น่าจะแปลกใจที่เมื่อเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลกแล้ว ภาคธุรกิจและภาคการเงินของไทยจึงเกิดการปรับตัวมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2008 และสิ่งที่น่าสนใจ คือ การทำความเข้าใจว่าประสบการณ์ของความผันผวนของเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจไทยเกือบทศวรรษนั้นคืออะไร น่าจะช่วยให้เราคาดการณ์ถึงการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้น ซึ่งผู้เขียนอยากยกประเด็นการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ 5 ประการดังนี้

ประการแรก ในปีนี้ เราอาจได้เห็นธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศไทย และคงเกิดความผันผวนในตลาดหุ้นและปัญหาสภาพคล่องของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 คงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แต่ในปีนี้ ความผันผวนในตลาดหุ้นและปัญหาสภาพคล่องคงไม่ได้รุนแรงดังเช่นในปี 2008

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบัน ทุกฝ่ายต่างพยายามนำข้อมูลต่างๆ เพื่อพยากรณ์หรือคาดการณ์ทิศทางของผลกระทบของเหตุการณ์ข้างต้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะการนำข้อมูลทางเศรษฐกิจเพื่ออธิบายผลกระทบของความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดทุน และสิ่งที่เป็นความท้าทายที่ตามมา คือ ภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินไม่ได้จำเป็นต้องเตรียมเฉพาะแผนการรับมือต่อความผันผวน แต่ยังจำเป็นต้องข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในตลาดทุนและภาคเศรษฐจริงมาใช้ประโยชน์ให้ได้ เรื่องดังกล่าวคงไม่ใช่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเฉพาะภาคเอกชน แต่ยังเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐในการวิเคราะห์เหล่านั้นเพื่อใช้กําหนดทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจได้ทันท่วงที

ประการที่สอง ในปีนี้ คงเกิดกระแสเคลื่อนย้ายเงินทุนระลอกใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลที่ตามมา คือ เมื่อเงินลงทุนไหลออกไปยังต่างประเทศแล้ว จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของไทยอย่างไร และผลดังกล่าวยังเกี่ยวโยงกับการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยอีกด้วย หรืออาจอธิบายง่ายได้คือ การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศทำให้เงินบาทแข็งค่าหรือการไหลออกของเงินทุนไทยไปต่างประเทศทำให้เงินบาทอ่อนค่า หรือปัจจัยอื่นที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่า ดังนั้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนระลอกใหม่คงมีผลต่อค่าเงินบาทในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คงมีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติม คือ เงินทุนประเภทต่างๆ อาทิ เงินลงทุนโดยตรง และเงินลงทุนในภาคสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ได้มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเหมือนกันทีเดียว ดังนั้น สิ่งที่เราต้องตอบให้ได้ คือ กระแสเงินทุนประเภทต่างๆ ที่ไหลเข้าและไหลออกเกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อค่าเงินบาทมากน้อยเพียงใด เรื่องดังกล่าวจะทำให้เราคาดการณ์ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงค่าเงินที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น

ประการที่สาม ไทยคงมีทิศทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในทิศทางตรงกันข้ามกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากหากสหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ประเทศอื่นๆ และไทยคงต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปด้วยเหมือนกัน แต่คำถามที่ตามมาคือ เมื่อไทยใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพื่อจัดการความผันผวนของเศรษฐกิจโลกแล้ว เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างไร และภาคเศรษฐกิจแต่ละส่วนได้รับอานิสงฆ์หรือผลกระทบเหมือนหรือแตกต่างกันแน่

คำถามต่างๆ ข้างต้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นโอกาสที่ดีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะจัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2560 ครั้งที่ 39 ในเรื่อง เส้นทางเศรษฐกิจไทยบนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก” ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2560 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก (ติดสถานทูตจีน) จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกคนที่สนใจเรื่องดังกล่าวมารับฟังคำตอบของคำถามเหล่านี้ โดยผู้อ่านสามารถเข้าไปสำรองที่นั่งได้จากเว็บไซต์ http://www.econ.tu.ac.th/symposium39/ ได้เลยครับ