'สตาร์ทอัพไทย' แข่งอย่างไร ให้ทัดเทียมต่างประเทศ

'สตาร์ทอัพไทย' แข่งอย่างไร ให้ทัดเทียมต่างประเทศ

ผู้จัดการด้านการลงทุน บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด

นวัตกรรมการให้บริการของสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เราเริ่มใช้ปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ต้องการแท็กซี่ ก็จะนึกถึง แกร็บ (มาเลเซีย) อูเบอร์ (สหรัฐฯ) หรือเวลาที่ต้องการส่งของผ่านแมสเซ็นเจอร์ เราจะนึกถึง ลาลามูฟ (Hong Kong) แม้กระทั่งเวลาซื้อของออนไลน์ เช่น ลาซาด้า (ร็อคเก็ต อินเทอร์เน็ต) หันหน้าไปทางไหนก็มีแต่รายใหญ่ๆ เข้ามากอบโกยโอกาสทางธุรกิจในประเทศเราทั้งสิ้น

แล้วสตาร์ทอัพของไทย? มีโอกาสขึ้นมาแข่งขันกับยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้อย่างภาคภูมิหรือไม่นั้นขึ้นกับหลายองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1.บุคลากร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของสตาร์ทอัพ โดยเป็นธุรกิจที่ตั้งต้นจากมูลค่าบุคลากรทั้งสิ้น ในที่นี้ไม่ได้นับเพียงแค่บุคคลากรที่จะเป็น Founder Co-founder หรือ CEO เท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบของทีม ได้แก่ CTO CMO Developer Customer Service และอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีความสำคัญไม่แพ้ CEO

ทั้งนี้ จะเห็นว่าประเทศไทย ยังประสบปัญหาขาดแคลนนักพัฒนา มีเพียงจำนวนน้อยนิดที่อุตส่าห์พยายามเรียนให้จบวิศวะคอมพิวเตอร์ แต่ไปประกอบอาชีพอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลทำให้นักพัฒนาที่มีคุณภาพในไทยมีน้อย เมื่อเทียบนักพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม หรือ ฟิลิปปินส์ ที่สตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เริ่มเข้าไปจัดตั้งศูนย์พัฒนา (Development House) ในประเทศเหล่านี้แล้ว

ดังนั้นการส่งเสริมการว่าจ้างนักพัฒนา และส่งเสริมให้นักพัฒนาที่มีคุณภาพได้รับผลตอบแทน และมีแนวคิดต่อยอดองค์ความรู้ของตัวเองกับ สตาร์ทอัพดูเหมือนเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต

2.แหล่งเงินทุน ที่มีจำนวนจำกัดในไทย โดยจำนวนเงินลงทุนที่มาจากวีซี หรือแองเจิ้ล ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน Early Stage Start-up หรือเป็นขนาดของการระดมทุนรอบ Pre-seed จนถึง Series A มากกว่าที่ Growth Stage Start-up นั่นคือ Series B ขึ้นไป โดยสตาร์ทอัพในไทยที่ได้รับเงินลงทุนระดับ Series B ขึ้นไปมีเพียงหยิบมือเช่นเดียวกับนักลงทุนที่มีเพียงหยิบมือเท่านั้น ที่กล้าลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วง Series B ขึ้นไป

ในที่นี้ การสนับสนุนจากภาครัฐในการทำแมชชิ่ง ฟันด์ หรือการปรับโครงสร้างและเครื่องมือการลงทุน หรือ Tax Incentives สำหรับ Venture Capital ดูจะเป็นทางออก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาลงทุนสตาร์ทอัพบ้านเรามากขึ้น

นอกจากนี้ ประสบการณ์ของนักลงทุนไม่ว่าจะเป็น Angel Investor หรือ Venture Capital หรือแม้กระทั่ง Corporate Venture Capital ในไทยยังใหม่มาก โดยนักลงทุนที่ดี และประสบความสำเร็จได้ ส่วนใหญ่เคยบริหารธุรกิจมาก่อนทั้งสิ้น มีความเข้าใจธุรกิจ ไม่ได้จัดการด้านลงทุน ดังนั้น การส่งเสริมให้นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยให้เข้าใจถึงตัวธุรกิจ สภาพแวดล้อมการลงทุน และโอกาสต่างๆ ดูจะช่วยให้มีเม็ดเงินมาลงทุนมากขึ้น

3.ผลิตภัณฑ์และบริการ ควรได้รับการส่งเสริมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พี่ใหญ่ในไทย ได้แก่ บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่มีทุนทรัพย์และฐานลูกค้าจำนวนมาก ควรมีส่งเสริมให้คอร์ปอเรทในประเทศไทยเป็น Early Adopter ให้กับสตาร์ทอัพไทย โดยหากนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปลดหย่อนหักภาษีเพิ่มเติมได้ จะส่งผลให้ธุรกิจใหญ่ๆ หันมามองโอกาสในการทดลองใช้สตาร์ทอัพ หรือพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี คงไม่ใช่เรื่องง่านที่จะทำได้ในเวลาอันรวดเร็วทั้งสามข้อ แต่จะเกิดขึ้นได้หากทุกคนร่วมมือกันค่อยๆ สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเสริมบุคคลากรให้เข้ามาทำงานใน สตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็มส์ หรือการ Educate นักลงทุนให้เข้าใจถึงโอกาสการลงทุนในสตาร์ทอัพในไทย และ Educate บริษัทยักษ์ใหญ่ให้เป็นพี่มาดูแลน้อง โดยให้โอกาสน้องๆ สตาร์ทอัพได้ลองจับงานสเกลที่ใหญ่ ส่งผลทำให้เกิดการแก้ไข ดัดแปลง ผลิตภัณฑ์และบริการให้ดี ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

ผมหวังว่าจะเห็นสตาร์ทอัพดีๆ เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยคนไทยอีก และหวังว่าจะมีการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีแววรุ่งให้เกิด Success Case ให้คนรุ่นต่อๆ ไปดูเป็นตัวอย่าง