ศก.ไตรมาสแรก สะดุดตอ

ศก.ไตรมาสแรก สะดุดตอ

เศรษฐกิจปีนี้ ทำท่าจะไปได้สวย จากหลาย “แรงส่ง” ทางเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจหลายสาขา

 ต่างประเมินว่า ธุรกิจปีนี้จะดีกว่าปีที่เพิ่งผ่านพ้น ด้วยเหตุผลหลากประการ อาทิ 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใส่ลงไปมากในปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปีนี้ โดยเม็ดเงินจะกระจายไปสู่เศรษฐกิจฐานราก ,โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ทั้งโครงการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ฯลฯ 

ตามข้อมูลของรัฐ ระบุว่า ในปี 2560 กระทรวงคมนาคม จะเดินหน้าโครงการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 8-9 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าจะเบิกจ่ายงบลงทุนสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจกว่า 4.2 แสนล้านบาท งบกลางเพื่อการลงทุนกลุ่มจังหวัดอีก 1 แสนล้านบาท งบกลางปีสำหรับโครงการกองทุนหมู่บ้านอีก 5 หมื่นล้านบาท

เหล่านี้ ล้วนเป็นเงินที่จะถูกผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการ “หมุนรอบ” ของเงินไปสู่ธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ประเมินกันว่าปี 2560 จะเป็น ปีทอง” ของธุรกิจนี้ สอดคล้องกับรัฐ ที่กำหนดให้ปีนี้ เป็นปีแห่งการลงทุน (Investment Year)

ยังไม่นับแรงส่งจาก ภาคการท่องเที่ยว ที่แม้ว่า จะได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือทัวร์ผิดกฎหมาย จากการกวาดล้างอย่างหนัก ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา จนส่งผลให้ “นักท่องเที่ยวจีน” นักท่องเที่ยวอันดับ1ของไทย หายไปจำนวนมาก ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แต่เมื่อประเมินภาพทั้งปี ยังพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้ายังสูงกว่า 32 ล้านคน และสร้างรายได้สูงกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้ประเมินว่าการท่องเที่ยวปีนี้จะยังคงสดใสต่อเนื่อง 

ขณะที่ ราคาสินค้าเกษตร เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย  เช่นเดียวกับ ภาคการส่งออก ก็เริ่มมีทิศทางปรับตัวดีในช่วงปลายปีที่ผ่านมา 

นี่คือ เรื่องดีๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้”  ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ ว่าจะขยายตัวราว 3.2% ขณะที่สภาพัฒน์ฯ ให้ตัวเลขไว้ที่ 3-4% 

ทว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายจังหวัดภาคใต้ นับเป็น ตัวแปรแทรกซ้อนควบคุมไม่ได้ ที่เข้ามาปั่นป่วนเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรก และทำท่าจะ ลาม” จากปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งทางบก ทางอากาศ สู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเกษตร การค้า และธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นไฮซีซันการท่องเที่ยวในทะเลฝั่งอันดามัน ขณะที่พื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง โดยกระทรวงเกษตรรายงานเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ว่ามีพื้นที่การเกษตรเสียหายสูงกว่า 9.6 แสนไร่ 

อย่างไรก็ตาม การเร่งให้ความช่วยเหลือทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และจิตอาสา น่าจะเป็นหนทาง “ลดผลกระทบ” ได้ดีที่สุดแล้ว ในยามนี้   

ยามที่คนไทยไม่ทิ้งกัน !