คัมภีร์อยู่รอดปี 2560 มองร้ายเพื่อผลบวก

คัมภีร์อยู่รอดปี 2560 มองร้ายเพื่อผลบวก

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง จะก้าวสู่ปีใหม่ 2560

 ที่ตามธรรมเนียมแนวคิดและวิถีปฎิบัติ มักจะบอกกล่าวกันว่าให้ทิ้งสิ่งไม่ดีไว้กับปีเก่า ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เริ่มต้นกับ “ปีใหม่” ที่ต้องดีกว่าเก่า หากแต่สถานการณ์ที่ต้องเผชิญในรอบหลายปีที่ผ่านมา อาจต้องเปลี่ยนมุมคิดยอมมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น

ข้อดีของการมองโลกในแง่ร้าย น่าจะให้เกิดความตื่นตัว ก้าวเดินอย่างระมัดระวังมากกว่ามองอะไรสวยงามไปหมด ท่ามกลางปัญหาที่ยังรายล้อมรอบด้าน ภาคประชาชน เอกชน และรัฐบาล ยังต้องเตรียมรับมือภาวะการณ์ที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงที่ไม่น้อยไปกว่าปัจจัยบวก

หากย้อนพิจารณารอบปี 2559 ที่เคยคาดการณ์ว่าน่าจะดีกว่าปี 2558 กลับมีความผันผวนทั่วโลก ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ราคาขึ้นลงแรง มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน ยังไม่นิ่ง ขณะที่การบริโภคในประเทศชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคเกษตรประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาพืชผลตกต่ำ รวมทั้งบรรยากาศโศกเศร้าของประชาชนชาวไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้

ปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีการเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ จากแรงขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทั้งเร่งรัดการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ ภาคการส่งออกที่อาจจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อีกฟันเฟืองสำคัญ คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาค แต่ละปีมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 30 ล้านคนในปีนี้ คาดว่าจะแตะ 40-45 ล้านคน ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยไทยวางยุทธศาสตร์มุ่งจับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ การวางมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ธุรกิจทัวร์ผิดกฎหมายต่างๆ จะเริ่มส่งผลดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ในภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยยังอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจมีความล่าช้า จากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ กระบวนการของการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน จากความแตกต่างของนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ กระทบค่าเงินบาทให้มีความผันผวนตาม

เราจะเตรียมรับมือกันอย่างไร? องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่บริหารแบบมืออาชีพ อาจไม่น่ากังวลเท่าผู้ประกอบการขนาดเล็ก และย่อมที่เปิดตัวสู่ตลาดจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังอยู่ในช่วงการของ ตั้งไข่ เส้นทางที่จะเดินหน้าเติบใหญ่ต้องใช้กำลังมากกว่าปกติ สูตรของหลายซีอีโอ บอกว่า ต้องมอง กรณีเลวร้ายที่สุด ไว้พอๆ กับ โอกาสธุรกิจ บางวิกฤติอาจเป็นโอกาส แต่บางโอกาสอาจก่อให้เกิดวิกฤติได้เช่นกัน

สถานการณ์ที่กำลังซื้อในตลาดหายไป ส่งผลยอดขายลดลง ทำให้กิจการขาดสภาพคล่อง หากไม่สามารถบริหารจัดการให้ธุรกิจกลับมามีสภาพคล่องได้ย่อมส่งผลกระทบนำสู่การปิดกิจการในที่สุด

ภูมิคุ้มกันที่สำคัญ คือ สภาพคล่องทางการเงิน ที่ไม่ต่างอะไรจากหัวใจของธุรกิจ เป็นตัวชี้วัดสุขภาพธุรกิจว่าอ่อนแอ หรือแข็งแกร่งมากน้อยอย่างไร เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะนำพาธุรกิจประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว