กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยจะถอยหลังหรือเดินหน้า?(จบ๗

กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยจะถอยหลังหรือเดินหน้า?(จบ๗

สวัสดีค่ะ ฉบับนี้เป็นฉบับส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะผ่านไปนะคะ ซึ่งผู้เขียนก็อยากจะฝาก

ความหวังไว้กับทาง สนช. ให้ช่วยพิจารณาร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าให้รอบคอบอีกทีหนึ่งก่อนที่จะออกกฎหมายฉบับนี้มาค่ะ

ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามแก้กฎหมายที่คล้ายจะเป็นแค่ เสือกระดาษ ฉบับนี้มานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องรีบร้อนออกกฎหมายฉบับนี้มา หากมันยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนร่างกฎหมายฉบับนี้ยังต้องปรับปรุงในจุดสำคัญหลายจุดอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปบ้างในบทความฉบับก่อน ๆ ค่ะ

สิ่งที่ผู้เขียนจะฝากไว้เพิ่มเติมในบทความนี้ยังคงอยู่ที่ประเด็นการกำหนดข้อห้ามที่เป็นการลดหรือจำกัดการเข่งขันทางการค้าค่ะ นอกจากเรื่องการห้ามผูกขาดและห้ามควบรวมกิจการในลักษณะที่จะเป็นการลดการแข่งขันที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับนี้ ยังห้ามการ ฮั้ว หรือรวมตัวกันทางธุรกิจเพื่อลดการแข่งขัน (หรือในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Cartel) และห้ามกระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (unfair trade practices) ด้วย ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับปัจจุบันค่ะ

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อยกเว้นบางประการที่ทำให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกันในทางนโยบายหรือการควบคุมการบริหารงาน ให้ไม่ต้องถูกจำกัดเรื่อง Cartel ค่ะ กล่าวคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้เหมือนจะอนุญาตให้บริษัทในเครือเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกันสามารถฮั้วกันหรือร่วมกันกระทำการลดหรือจำกัดการแข่งขัน เช่น กำหนดราคาหรือคุณภาพของสินค้าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าข้อกฎหมายในเรื่องนี้อาจจะทำให้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของบ้านเรา กลายเป็น “เสือกระดาษ” ยิ่งกว่าเดิมเสียอีกเพราะจะมีผลทำให้ควบคุมพฤติกรรมของบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ได้ในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็มีเรื่องที่บรรดานักกฎหมายและภาคธุรกิจน่าจะเห็นด้วยหลายประการเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงโทษของการกระทำความผิดตามกฎหมายแข่งขันฯ ให้เหมาะสมกับความร้ายแรง ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่า ความผิดที่เกี่ยวกับการผูกขาดและรวมตัวกันผูกขาด ควรจะมีโทษร้ายแรงกว่าพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ การผูกขาดควรจะมีโทษอาญาเหมือนเดิม แต่ก็เปิดช่องให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเปรียบเทียบปรับทุกความผิดได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อดี ก็คือ การทำให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีความเป็นอิสระและมีศักยภาพมากขึ้น สิ่งที่ขอฝากเอาไว้ ก็คือ กฎหมายควรจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันกับภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้อำนาจกำกับควบคุมและลงโทษภาคธุรกิจในกรณีที่มีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจังเสียที

พบกันใหม่ปีหน้าค่ะ

-------------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่