แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2560 ตอนที่ 1

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2560 ตอนที่ 1

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2560 ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2560 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2559

โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 3.3-3.6% ในปีหน้า (พ.ศ. 2560) ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงตัวเลขเฉลี่ยจีดีพีโลกให้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8-2% และ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.6-5% ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้าและความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัดหรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลในยุโรปหลายประเทศ

     การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่โดยเฉพาะหลังทศวรรษ ค.ศ. 1980 เป็นตันมาจะให้ความสำคัญกับเทคนิค เครื่องมือในการวิเคราะห์เชิงปริมาณค่อนข้างมาก ทำให้ผู้เรียนขาดความเชื่อมโยงระหว่างการวิเคราะห์ทางทฤษฎี การวิเคราะห์เชิงปริมาณด้วยสมการทางคณิตศาสตร์และเศรษฐมิติกับความเป็นจริงของสังคมและโลกแห่งการปฏิบัติ ขาดมุมมองในการบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่น โดยเฉพาะเมื่อศึกษาเรื่องการกำหนดนโยบายซึ่งต้องใช้กรอบความคิดและองค์ความรู้เศรษฐศาสตร์การเมือง ทำให้เกิดวิเคราะห์และมองอนาคตเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบของนโยบายมีความคลาดเคลื่อนบ่อยครั้ง

     การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมพรรคฝ่ายขวากำลังมีอำนาจและบทบาททางการเมืองมากขึ้นในชาติตะวันตก ทำไมพรรคการเมืองนิยมซ้ายกำลังถดถอย ปรากฏการณ์นี้จะดำเนินอย่างไรต่อไปและมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจสำนักคิดและลัทธิทางเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลในแต่ละยุคเพื่อแก้ปัญหาหรือนำไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจการศึกษาประวัติลัทธิทางเศรษฐกิจหรือสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์ เป็น การจดบันทึกเรื่องราวของคำสอน (Doctrinces) หรือ แนวคิด (Ideas) ของบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอิทธิพลในยุคนั้นๆและยังทรงอิทธิพลมาถึงปัจจุบันและอาจจะในอนาคตด้วย แต่ละสำนักคิดจะมีกรอบความคิดหรือประเด็นทางทฤษฎีที่แต่ละสำนักพัฒนาขึ้นมา มีรูปแบบในการนำเสนอเหตุผลเพื่อหักล้างทฤษฎีของสำนักคิดอื่น แต่ละสำนักคิดก็จะชี้ให้เห็นว่า สำนักคิดของตัวเองนั้นแตกต่างจากสำนักคิดอื่นอย่างไร

     ยกตัวอย่าง ความขัดแย้งทางทฤษฎีและแนวคิดในการการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของสำนักเคนส์ (Keynesian School)   และ สำนักการเงินนิยม (Monetarist School) สำนักเคนส์จะให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับนโยบายการคลัง ขณะที่สำนักการเงินนิยมให้ความสำคัญกับนโยบายการเงิน

     สำนักคิดเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการบริหารเศรษฐกิจโลกอย่างไร มีผลต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆและไทยอย่างไร ด้วยการเดินหน้าลดภาษีและเร่งการลงทุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ผมคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปีหน้า (พ.ศ. 2556) จะสูงกว่าที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินไว้ โดยมองว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 2.3-2.8% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ที่ 2.2%) เป็นผลมาจากภาคการบริโภค ภาคการลงทุน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมไอที ธุรกิจเวชภัณฑ์ การปรับลดภาษีนิติบุคคลและการลงทุนโครงสร้าง

     พื้นฐานทางเศรษฐกิจใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะเผชิญแรงกดดันปัญหาหนี้สาธารณะและเผชิญกับปัญหาเพดานหนี้หากเศรษฐกิจไม่โตตามเป้า การตัดลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นอีก แรงกดดันเงินเฟ้อจะมากขึ้นพร้อมกับการเติบโตที่มากขึ้น ทำให้อาจมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณไว้ในช่วงปลายปีนี้ (พ.ศ. 2559) แนวโน้มของรัฐบาลสหรัฐในการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงของระบบการค้าโลกและสร้างแรงกดดันต่อภาคส่งออกของจีนและเอเชียตะวันออก

      ส่วนเศรษฐกิจยุโรปนั้น ตนมองว่า จะอ่อนแอมากกว่าที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจของโลกประเมินไว้ค่อนข้างมากโดยคาดว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยุโรปจะขยายไม่เกิน 1.4% เป็นผลมาจากผลกระทบของ Brexit และ ความเสี่ยงของประเทศอื่นในอียูจะขอแยกตัวออกมาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจผลกระทบผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริการเหนือ การก่อการร้ายสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจ ปัญหาระบบสถาบันการเงินอ่อนแอ หนี้สาธารณะในระดับสูง โครงสร้างประชากรสูงอายุ และความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เยอรมันยังคงเติบโตได้ดีรวมทั้งเศรษฐกิจสเปนยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง

      ปีหน้า (พ.ศ. 2560) เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่แตกเพิ่มเติมลดลง เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากติดลบต่อเนื่องมาสองปี

      กลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 5-6% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีนและพม่ามีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อการค้าชายแดนภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

      ปีหน้า (พ.ศ. 2560) น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีที่สุดในรอบสี่ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 (เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 6.5% ในปี พ.ศ. 2555 หลังมหาอุทกภัยน้ำท่วม) โดยคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจะอยู่ที่ 3.6-4.2% ภาคการลงทุนเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะแรงขับเคลื่อนสำคัญ ภาคส่งออกฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยและภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 33.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่ต่ำกว่า 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าเพื่อการลงทุนมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาพืชผลเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและราคาพลังงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากจะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง โดยคาดว่า ภาคการลงทุนโดยรวมจะเติบโตได้อย่างน้อย 5.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3% การส่งออกเริ่มฟื้นตัวทำให้กำลังการผลิตลดลงและเริ่มกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ความมีเสถียรภาพในระยะเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกในประชาคมอาเซียนเริ่มขยับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

       การลงทุนก่อสร้างของเอกชนมีความสัมพันธ์ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง หากมีความคืบหน้าตามเป้าหมายจะดึงให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีความสัมพันธ์ในระดับสูงทางบวก (Positive Correlation) กับการขยายตัวของภาคส่งออก ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นโดยขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5-3% ภาคการบริโภคฟื้นตัวไม่มากเพราะระดับรายได้ประชาชนโดยทั่วไปไม่เพิ่มขึ้นมาก ความไม่มั่นคงในงานลดลงจากการนำเทคโนโลยีมาทดแทนในการทำงานมากขึ้น ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมหรือกิจการที่มีภาวะฟองสบู่ เช่น สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะทีวีดิจิตอล ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ กิจการอุดมศีกษา กิจการธนาคารธุรกิจการเงินแบบเดิม เป็นต้น

      นอกจากนี้ ภาคการบริโภคยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การนำเงินรายได้ในอนาคตมาบริโภค รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคโดยลดหย่อนภาษีกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราวระยะสั้น และได้ทำมี Stock Inventory เก็บไว้จำนวนมากในภาคครัวเรือนและส่งผลให้ตัวเลขภาคการบริโภคชะลอลงอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2560