จับตาลงทุนรัฐกระตุ้นจีดีพี

จับตาลงทุนรัฐกระตุ้นจีดีพี

หากเป็นไปตามที่รัฐบาลชุดนี้คาด ในปีหน้า “จีดีพี” ของไทยจะขยายตัวได้ถึง 4-5%

 ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนศักยภาพของการเติบโตอย่างแท้จริง หลังจากที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน แม้ปีนี้ จีดีพีจะสามารถขยายได้มากกว่า 3% โดยปัจจัยสำคัญที่จะผลักดัน คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งคาดหวังที่จะให้เอกชนลงทุนตาม

ในปี 2560 รัฐบาล มีแผนจะอัดเม็ดเงินงบประมาณเพื่อการลงทุนเพิ่มเติม โดยนอกเหนือจากเม็ดเงินขาดดุลงบประมาณในปี 2560 ที่มีอยู่ถึง 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รัฐบาลยังได้อนุมัติการกู้เงินจัดทำงบกลางปีอีก 1.9 แสนล้านบาท เพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่ม

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มั่นใจว่า เม็ดเงินเหล่านี้ จะช่วยรีฟอร์มประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตตามเป้าหมาย เพราะเม็ดเงินจะลงไปหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น ก่อให้เกิดการผลิต การบริโภคและการจ้างงาน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศ

ทั้งนี้ จะมีเม็ดเงินจำนวน 1 แสนล้านบาทในการจัดทำงบกลางปีดังกล่าว ถูกนำไปจัดสรรให้แก่กลุ่มจังหวัดที่จะได้เม็ดเงินราว 5-6 พันล้านบาทในแต่ละกลุ่มจังหวัด เพื่อนำไปลงทุนพัฒนากลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านของรัฐบาล และยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ภาคของสภาพัฒน์ด้วย โดยจะต้องทำการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในปี 2560

อีกจำนวน 3 หมื่นล้านบาท จะนำไปจัดสรรให้แก่กองทุนหมู่บ้าน เพื่อนำไปลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพ แต่ด้วยเม็ดเงินที่ลงไปพร้อมกันในจำนวนมากๆ ภายใต้การเบิกจ่ายที่มีระยะเวลาจำกัด คำถาม คือ ทั้งประสิทธิภาพของโครงการและประสิทธิภาพการเบิกจ่ายจะทำได้ดีแค่ไหน

โดยหนึ่งในปัญหาของการลงทุน คือ ภาคเอกชนที่จะมารับงานลงทุนภาครัฐ ในแต่ละท้องที่นั่นมีจำนวนและมีศักยภาพเพียงพอ ที่จะรองรับโครงการลงทุนที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันทั่วประเทศหรือไม่ เพราะโครงการที่จะเดินหน้าได้เร็วจะมีขนาดไม่เกิน 10 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเม็ดเงิน 5-6 พันล้านบาทที่แต่ละกลุ่มจังหวัดได้รับ จะต้องมีโครงการที่แตกย่อยอีกจำนวนมาก

อีกคำถาม ประชาชน จะได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมสำหรับเม็ดเงินที่ลงไปหลายแสนล้านบาท อย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายหรือไม่ แน่นอน ตัวชี้วัดจะออกมาในรูปของจีดีพีที่อาจจะขยายตัวดีขึ้น หากเม็ดเงินที่ลงไปถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ผลที่ได้ ก็คือ ภาระหนี้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินของรัฐบาล