สถานการณ์'ความเหลื่อมล้ำ' กับความท้าทายทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์'ความเหลื่อมล้ำ' กับความท้าทายทางเศรษฐกิจ

สัปดาห์ก่อนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 ได้เชิญคุณซูเดีย เชตตี (Sudhir Shettyหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประจำธนาคารโลก มาบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคในปี 2560 – 2561 ซึ่งภาพรวมจีดีพีของภูมิภาคนี้จะขยายตัวได้ถึง 6%

ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งคุณซูเดียหยิบยกขึ้นมาพูดคุยก็คือ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาถือว่าในภูมิภาคประสบความสำเร็จ ในการลดจำนวนคนยากจน ปัจจุบันประชากรที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นยากจนหรือกลุ่มที่เรียกว่า Extreme poor มีรายได้น้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันลดลงเหลือเพียง 5% ของประชากรทั้งหมด ชนชั้นกลางมีการเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการพัฒนาและเกิดขึ้นของเมืองใหม่

กลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 5.5 – 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือกลุ่ม Economically ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง กลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของเอเชียตะวันออก ตามมาด้วยกลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 3.10 – 5.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งกลุ่มนี้ก็มีความต้องการที่จะเลื่อนฐานะขึ้นไปอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางรายได้สูง แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจก็ไม่เอื้อนัก

ขณะที่ประชากรกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือกลุ่มยากจนปานกลาง (moderate poor) ที่มีรายได้ระหว่าง 1.9 – 3.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้ไม่ต่างจากกลุ่ม Extreme poor มากนักและหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจคนกลุ่มนี้ มีความเปราะบางที่จะมีรายได้เฉลี่ยลดลง และตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจนอีกครั้ง

ภาพความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกมีความสอดคล้องกับประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ากลุ่มประชากร 10%ที่มีรายได้สูงสุดถือครองทรัพย์สินกว่า 35% คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการถือครองทรัพย์สินของประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 10% ถึง 22 เท่า

ส่วนความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน พบว่าสินทรัพย์ทางการเงินกระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อย โดยบัญชีเงินฝากของคน 0.1% มีเงินฝากเท่ากับ 49.2% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด ขณะที่การถือครองที่ดินของกลุ่มประชากร 10%ที่มีรายได้สูงสุดมีสัดส่วนถือครองที่ดินถึง 61.5% ขณะที่ประชากรอีก 90% ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 38.5%

ประชากรกว่า 40% หรือกว่า 26.9 ล้านคน ยังมีรายได้ต่ำกว่า 5,344 บาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรและแรงงานทักษะต่ำ ขณะที่มีคนในกลุ่มนี้อีก 5.6 ล้านคนที่มีรายได้อยู่เหนือเส้นยากจนไม่มากนัก หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติก็สุ่มเสี่ยงที่จะกลับไปอยู่ใต้เส้นยากจน กลุ่มนี้จึงถือเป็น moderate poor ในประเทศไทย

ยังมีปัจจัยอีกมากที่อาจจะส่งผลให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงขึ้น เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีที่จะทำให้รายได้จำกัดอยู่กับกลุ่มที่เขาถึงเทคโนโลยี และทำให้เกิดกลุ่มผู้ขาดโอกาสเพิ่มขึ้น

...การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคมจึงเป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายของประเทศตลอดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 12 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี