ทักทึก ... ตรึกตรอง

ทักทึก ... ตรึกตรอง

'ดร. เอกนิติ' เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมมีความเชื่อเสมอมาว่าวงการราชการไทยยังมีคนที่มีความรู้และความสามารถระดับสูงอยู่จำนวนมาก

เมื่ออ่านหัวข้อในวันนี้ท่านผู้อ่านก็จะบอกทันทีว่าเขียนผิด เขียนได้อย่างไรว่า 'ทักทึก' เพราะใครๆ ก็รู้ว่าที่ถูกจะต้องเขียนว่า 'ทึกทัก' จากนั้นผู้อ่านบางท่านก็จะสรุปไว้เพียงเท่านั้น ส่วนผู้อ่านบางท่านก็จะพยายามคิดหาเหตุผลต่อไปว่า เหตุใดจึงเขียนผิด ผมสะเพร่า – ผมเขียนถูก แต่คนเรียงพิมพ์สะเพร่า – หรือผมตั้งใจเขียนผิดโดยมีเหตุผลซ่อนเร้น

Daniel Kahneman ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ. 2545 เขียนไว้ในหนังสือขายดี Thinking, Fast and Slow ว่าการคิดของคนเรามีอยู่ 2 ระบบ ระบบที่หนึ่ง คือ การคิดแบบที่ผมเรียกเองว่า 'ทึกทัก' ซึ่งเป็นการคิดและสรุปแบบฉับพลันโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือบางทีอาจกล่าวได้ว่านอกเหนือการควบคุมของเราด้วยซ้ำ ซึ่งก็คือการที่ท่านผู้อ่านบอกเลยทันทีว่า 'ทึกทัก' คือการเขียนผิด และระบบที่สอง คือการคิดแบบที่ผมเรียกเองว่า 'ตรึกตรอง' ซึ่งเป็นการคิดแบบที่จะต้องใช้ความพยายามและสมาธิ ซึ่งก็คือการที่ท่านผู้อ่านบางท่านพยายามคิดต่อไปว่า ผมอาจจะตั้งใจเขียนผิดเพื่อเหตุผลอะไรบางอย่าง

คนเราจะใช้การคิดระบบที่หนึ่งอยู่ตลอดเวลาจนกว่าสมองจะสั่งให้ระมัดระวังเพื่อตรวจสอบ จึงจะใช้การคิดระบบที่สองเข้ามาช่วย แต่ปัญหาคือ หลายๆ ครั้งเราจะไม่ทราบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วในการคิดระบบที่หนึ่ง จึงไม่ได้ใช้การคิดระบบที่สองเข้ามาช่วย ซึ่ง Daniel Kahneman ยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นไว้ โดยขอให้อ่านข้อความต่อไปนี้

ซึ่งผู้อ่านก็จะ 'ทึกทัก' เอาทันทีว่า A-B-C และ 12-13-14 และ Ann กำลังไปถึงธนาคารโดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า ที่อ่านแตกต่างกันเป็น B และ 13 นั้น ที่แท้จริงแล้วตัวหนังสือเขียนไว้เหมือนกันทั้งสองด้าน เหตุใดจึงไม่อ่านให้เหมือนกันเป็น A-13-C หรือ 12-B-14 และคำว่า Bank นั้นอาจหมายถึง ริมฝั่งแม่น้ำก็ได้ เหตุใดจึง 'ทึกทัก' เอาว่าหมายถึงธนาคาร ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้คือการใช้การคิดระบบที่หนึ่ง 'ทึกทัก' เอาแบบฉับพลันโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมอ่านพบมาจากแหล่งอื่นแต่อธิบายความผิดพลาดในการคิดระบบที่หนึ่ง ได้เป็นอย่างดี คือ พ่อกับลูกชายวัยรุ่นได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์รถชน เมื่อทั้งลูกชายและพ่อถูกนำส่งโรงพยาบาล แพทย์ที่จะทำการผ่าตัดลูกชายพูดขึ้นว่า 'ใจสั่นผ่าตัดไม่ได้ เพราะเด็กคนนี้เป็นลูกชายของหมอเอง' จึงเกิดคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรเพราะพ่อก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสและยังนอนรอรับการผ่าตัดอยู่เช่นเดียวกัน คำตอบคือ เป็นไปได้ เพราะแพทย์คือ 'แม่' ของเด็กชายวัยรุ่นคนนั้น แต่การคิดระบบที่หนึ่งของคนส่วนใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน 'ทึกทัก' เอาเองจากความคุ้นชิน หรือประสบการณ์ที่สมองเก็บสะสมไว้เป็นคลังข้อมูลว่าแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดจะต้องเป็นผู้ชายทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลบ่งชัดใดๆ

การคิดระบบที่หนึ่งเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นฉับพลันและส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือการควบคุม (บางครั้งจึงเรียกเอาว่าเป็นการคิดตามสัญชาตญาณ) ซึ่งในหลายครั้งก็มีความจำเป็นและมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต้องตัดสินใจในช่วงสั้นๆ เช่น ในกรณีขับรถแล้วเจอสถานการณ์คับขัน การคิดระบบที่หนึ่งจะทำให้เราหักหลบทันที โดยไม่ต้องผ่านการคิดไตร่ตรองด้วยการคิดระบบที่สองเลย เป็นต้น

แต่การใช้การคิดระบบที่หนึ่งในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการหาข้อมูล การตัดสินใจ หรือในส่วนอื่นใดโดยไม่ 'ตรึกตรอง' ด้วยการคิดในระบบที่สองเลยนั้นย่อมจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้โดยง่าย ในการทำงานเราจึงต้องใช้ความพยายามที่จะนำการคิดในระบบที่สองมาใช้ประกอบอยู่เสมอ

ในปีนี้ ผมได้ทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. ซึ่งผมชื่นชมในความรู้ความสามารถมานานตั้งแต่ ดร. เอกนิติ ยังทำงานอยู่ในตำแหน่งอื่น

ผมสังเกตว่า ดร. เอกนิติ มีความระมัดระวังไม่ “ทึกทัก” เรื่องต่างๆ เอาตามประสบการณ์ของตนเองอย่างฉับพลันตามการคิดระบบที่หนึ่ง แต่ใช้สมาธิ 'ตรึกตรอง' อย่างระมัดระวังเสมอ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากการคิดระบบที่สองอย่างเต็มที่

ดร. เอกนิติเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมมีความเชื่อเสมอมาว่าวงการราชการไทยยังมีคนที่มีความรู้และความสามารถระดับสูงอยู่จำนวนมาก