เศรษฐศาสตร์ตู้แดง

เศรษฐศาสตร์ตู้แดง

ทอง 2560 ยังมีลุ้น Globalization Paradox หนุน

ปี 2559 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงในโลกหลายด้าน ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ในภาคการเมือง การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ถือเป็นจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ ยุโรปเคยถูกมองว่าเป็นภูมิภาคที่เหนียวแน่นแต่วันนี้ความเป็นปึกแผ่นนี้เริ่มถูกตั้งคำถาม การชนะการเลือกตั้งของนายโรดริโก ดูเตร์เต ก็ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ สำคัญที่สุดคงหนี้ไม่พ้นการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เรียกได้ว่าพลิกโลกก็ว่าได้

ในด้านเศรษฐกิจเราอยู่ในยุคที่มีการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ “สุดโต่ง” เช่นกัน หลังวิกฤติทางการเงินปี 2552 การใช้นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทำให้หลายประเทศใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบิดเบือนกลไกตลาดผ่านการซื้อสินทรัพย์กลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป (ประเทศพัฒนาแล้ว)

ตลาดทองเป็นปีแรกในรอบ 4 ปีที่ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก หลังจากขาลงรอบใหญ่ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งระหว่างปีที่ผ่านมาราคาทองคำในตลาดโลกขึ้นไปทำจุดสูงสุด 1,375 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งก็มาจากสาเหตุหลักสองสามประการด้วยกัน ประการแรกซึ่งเป็นปัจจัยหลัก คือเฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม หลังจากที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกในการประชุมนัดสุดท้ายช่วงกลางเดือนธ.ค. 2558 โดยก่อนหน้านั้นตลาดเชื่อว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องด้วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและต้องออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่จะสร้างปัญหาใหม่ในอนาคต อย่างไรก็ดี หลังจากการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 15 ธ.ค.2559 ราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงตอบรับประเด็นเดียวกันสะท้อนความสำคัญของทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ กับทิศทางราคาทองคำ ประการที่สอง ความเปราะบางในภูมิภาคยุโรปหลังจากการลงประชามติของประชาชนอังกฤษในการออกจากสหภาพยุโรป ความกังวลว่าตลาดการเงินจะผันผวนทำให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยสูงอย่างทองคำมีมากขึ้น ประการที่สาม ความผันผวนในระบบอัตราแลกเปลี่ยน การใช้นโยบายไปคนละทางทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในภาวะไม่สมดุล การลงทุนในรูปแบบเงินตลาดต่างประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้น ทองคำในฐานะ Real asset ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะที่มีการบิดเบือนทางการเงินน้อยกว่าจึงกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ

ปี 2560 จะถือเป็นหนึ่งปีที่จะทดสอบว่าทองคำจะสามารถกลับมาเป็นขาขึ้นได้อีกครั้งหรือไม่ เพราะหลังจากที่ทำจุดต่ำสุดในปีที่แล้วและเริ่มฟื้นตัวได้ในปีนี้ ในทางเทคนิคจึงอาจจะมองได้ว่าทองคำกำลังอยู่ในช่วงเลือกทาง ระหว่างกลับเข้าสู่ตลาดขาขึ้นอีกครั้ง หรือจะเคลื่อนไหวแบบ Sideway ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 หลังเกิดวิกฤติราคาน้ำมันทำให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 300% ก่อนจะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วและจึงเข้าสู่ตลาด Sideway แบบสมบูรณ์

ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่าปี 2560 จะเป็นปีที่ราคาทองคำจะยังมีผลตอบแทนเป็นบวกจากปัจจัยหนุนด้านการเมืองโลกเป็นสำคัญโดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองที่มีผลต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม จุดแรกที่อยากจะให้โฟกัสกันคือภูมิภาคยุโรป เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหนี้ภาครัฐ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแต่ใช้นโยบายการเงินและกติกาทางเศรษฐกิจร่วม ทำให้เชื่อว่าปีหน้าเราจะได้เห็นการพูดถึงการออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปหรือยูโรโซนเพิ่มมากขึ้น ความไม่แน่นอนต่อความสัมพันธ์ของขั้วอำนาจโลกก็ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญต้องไม่ลืมว่าเรากำลังมีผู้นำทางการเมืองโลกที่มี “จุดยืน” ที่แตกต่างกันเด่นชัดมากที่สุดตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็น ขณะที่การเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกันทำให้วิวาทะสามารถกระโดดข้ามโลกได้เพียงเสี้ยววินาที ด้านเศรษฐกิจเองก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งความผันผวนในตลาดทุน การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ อุปสงค์ของธนาคารกลางที่สะสมทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูจะเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่จะหนุนราคาทองคำในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น ด้านปัจจัยลบสำคัญคงหนีไม่พ้นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของตลาดทุนที่จะลดความน่าสนใจในการเก็งกำไรในทองคำลง เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะกระทบต่อราคาทองคำในประเทศในปี 2560 แม้จะบอกว่ามีโอกาสแต่ความเสี่ยงในตลาดทองก็ยังคงมีจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนครับ