วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์ (อังกฤษ)

วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์ (อังกฤษ)

สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรทรงครองราชย์เป็นเวลา ๖๔ ปี

(ค.ศ.1837-1901) ในรัชสมัยของพระองค์ อังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างยิ่งยวด อันเป็นผลมาจากการที่รัฐสภาผ่าน พ.ร.บ. การปฏิรูปใหญ่ ค.ศ.1832 (the Great Reform Act) ขยายสิทธิเลือกตั้งและปรับปรุงเขตเลือกตั้งให้กว้างขวางครอบคลุมและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งผลให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและสามารถกล่าวอ้างได้มากขึ้นว่าเป็นองค์กรที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน 

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษปรับการใช้พระราชอำนาจให้เหมาะสมกับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป เมื่อกล่าวถึงวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปของสถาบันพระมหากษัตริย์ นักวิชาการอังกฤษตั้งข้อสังเกตแตกต่างกันไปเกี่ยวกับที่มาของการใช้พระราชอำนาจในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ข้อสังเกตที่ว่านี้คือ หนึ่ง สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทรงรับรู้เข้าใจและสามารถกำหนดบทบาทและการใช้พระราชอำนาจด้วยตัวพระองค์หรือภายใต้คำแนะนำภายในราชสำนักของพระองค์เองอย่างเหมาะสม หรือ สอง พระองค์ทรงรับรู้จากภายนอกราชสำนักหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จากคนนอกที่มองว่า ในบริบทที่เปลี่ยนแปลง บทบาทและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะใช้ได้แค่ไหนและอย่างไร ? 

ทั้งนี้ ตามความเห็นของ Matthew Dennison ในหนังสือ Queen Victoria: A Life of Contradictions (๒๐๑๓) กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียไม่ได้ทรงอ่านหนังสือ The English Constitution ของนักหนังสือพิมพ์ด้านการเมืองที่ชื่อ Walter Bagehot ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1867 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียนั่นเอง หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องและอ้างอิงว่าเป็นคัมภีร์ที่อธิบายสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษได้ดีที่สุด ถ้าไม่นับ The Monarchy and the Constitution ของ Vernon Bogdanor ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1995 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

The English Constitution ของ Walter Bagehot เป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ต่อมาได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอ ข้อความเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของ Bagehot ที่ได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอไม่ว่าจะในอังกฤษเองหรือในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์มีพระราชสิทธิ์อยู่สามประการ นั่นคือ “the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn” 

แต่การใช้พระราชสิทธิ์ที่ว่านี้จะต้องดำเนินไปโดยไม่เปิดเผย แม้ว่าในหนังสือ Queen Victoria: A Life of Contradictions (๒๐๑๓) Matthew Dennison กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียไม่ได้ทรงอ่านหนังสือ The English Constitution ของ Walter Bagehot จึงกล่าวไม่ได้ว่าพระองค์ทรงได้ข้อคิดเกี่ยวกับบทบาทการใช้พระราชสิทธิ์-พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์จากคำแนะนำจากหนังสือดังกล่าว 

แต่ Matthew Dennison ยืนยันว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือหลักของผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย---แม้ไม่ได้ทรงอ่าน แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทรงยืนยันต่อรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี คณะสงฆ์ นายทหาร รัฐบุรุษและผู้ปกครองประเทศต่างๆ เฉกเช่นเดียวกันกับในพระบรมวงศานุวงศ์ ถึงพระราชสิทธิ์ของพระองค์ที่จะได้รับการทูลเกล้าฯ ขอคำแนะนำ กระตุ้นและตักเตือน (to be consulted, to encourage and to warn - ซึ่งเป็นวลีที่โด่งดังที่ Bagehot ได้กล่าวไว้ถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยใหม่) 

สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทรงปฏิบัติเช่นนั้นอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่อีกมุมหนึ่ง นักวิชาการอีกท่านหนึ่งคือ Sean Lang ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ Parliamentary Reform, 1785-1928, (1999) ว่า ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ Bagehot ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง...และเขาได้เขียนหนังสืออันทรงอิทธิพลยิ่ง นั่นคือ The English Constitution ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ (the royal family) ได้รับมาเป็นแนวทางในการวางบทบาทองค์พระมหากษัตริย์ (as guidance on the Crown’s role in politics) ในการเมือง---สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทรงอ่านหนังสือเล่มนี้ และรวมทั้ง Edward VII และ George V โดย Bagehot เห็นว่า บทบาทของสมเด็จพระราชินีนาถมีความสำคัญยิ่งต่อความต่อเนื่องของการปกครองตามประเพณีของอังกฤษ 

แต่มุมมองของ Bagehot ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในสมัยของเขานั้นย่อมจะเป็นสิ่งที่บรรพกษัตริย์ของสมเด็จพระราชินีนาถคงทรงเห็นว่าเป็นมุมมองที่ค่อนข้างจำกัดพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง ด้วย Bagehot อธิบายว่า องค์พระมหากษัตริย์มีพระราชสิทธิ์อยู่เพียงสามประการ นั่นคือ the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn 

จากที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นถึงประเด็นข้อถกเถียงที่เป็นปัญหาทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษว่า ตกลงแล้ว เมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงตระหนักรับรู้ถึงแนวทางการใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์หรือจากภายในราชสำนักของพระองค์เอง หรือ ตระหนักรับรู้ผ่านข้อคิดเห็นของคนภายนอกราชสำนัก ?

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียจะทรงปรับบทบาทของพระองค์ด้วยตัวพระองค์หรือจากภายในราชสำนัก หรือ จากข้อเขียนของคนนอกอย่างนักหนังสือพิมพ์คนนั้น ประเด็นที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ การมีวิวัฒนาการที่ทันสมัยของสถาบันพระมหากษัตริย์