กำลังซื้อ-โฆษณา ลุ้นฟื้นไตรมาส2

กำลังซื้อ-โฆษณา ลุ้นฟื้นไตรมาส2

เศรษฐกิจประเทศไทยช่วงไตรมาส 4 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

สะท้อนได้จากผลวิจัยล่าสุดของ กันตาร์ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย ร่วมกับ มาร์เก็ตบัซซ สำรวจผู้บริโภคคนไทย จำนวน 1,000 คน พบว่า“การจับจ่าย” คนไทยในไตรมาส 4 ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น โดย 80% บอกว่าจะควบคุมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และ 77% จะซื้อสินค้าเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

สิ่งที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย คือ การเดินทางไปต่างประเทศ 64% การลงทุนใน LTF/RMF สัดส่วน 60% และรถยนต์ใหม่ 52%

แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 71% มองว่าอนาคตจะดีขึ้นหรือเหมือนเดิม

ด้านข้อมูลจาก รีเทล อินเด็กซ์ และ คอนซูเมอร์ พาเนล ของ นีลเส็น ประเทศไทย ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ด้านพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ผ่านช่องทางค้าปลีกทุกประเภททั้งโมเดิร์นเทรดและดั้งเดิม ซึ่งวิเคราะห์กำลังซื้อผู้บริโภค เดือน ต.ค. ที่อยู่ในช่วงถวายอาลัย

พบว่ายอดจับจ่ายต่อ“ครัวเรือน” ลดลง 6.5% จาก 1,443 บาท/ทริปในเดือน ก.ย.  เหลือ 1,350 บาท/ทริป ในเดือน ต.ค.  ส่วนการใช้จ่ายต่อครั้ง ลดลง 1.7% จาก 248 บาท/ทริป เหลือ 244 บาท/ทริป

เช่นเดียวกับ“ความถี่”ที่เดินทางไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีกต่างๆ เดือน ต.ค. ลดลง 4.9% จากเดือน ก.ย. 5.8 ครั้ง เหลือ 5.5 ครั้ง โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ลดลง 8%  สูงกว่าต่างจังหวัดที่ลดลง 3%

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนมาจากบรรยากาศความโศกเศร้า และช่วงเวลาที่คนไทยถวายความอาลัย

นีลเส็น สำรวจเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่าง 500 คน ช่วงวันที่ 2-10 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อดูแนวโน้มพฤติกรรมหลังการถวายอาลัยครบ 30 วัน  และรัฐบาลกำหนดให้มีรายการปกติทางสื่อโทรทัศน์และวิทยุ พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 30% มองว่าสถานการณ์และบรรยากาศน่าจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 2 เดือน, สัดส่วน 27% มองว่าจะปกติภายใน 3-4 เดือน, สัดส่วน 7% อยู่ในช่วง 4-5 เดือน และ 36% ต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน 

ส่วนมุมมองต่อการจับจ่ายที่จะกลับสู่ภาวะปกติ ภายใน 1-2 เดือน ของกลุ่มอายุ 20-34 ปี มีสัดส่วน 27%, อายุ 35-49 ปี สัดส่วน 28% และอายุ 50 ปีขึ้นไป 6%  กลุ่มที่มองว่าการจับจ่ายจะกลับสู่ภาวะปกติ ต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือนขึ้นไป เป็นกลุ่มสูงวัย อายุ 50 ปีขึ้นไปสัดส่วน 59% 

จะเห็นได้ว่ากลุ่มอายุน้อยมีแนวโน้มกลับมาจับจ่ายปกติได้เร็วกว่ากลุ่มสูงวัย 

พฤติกรรมการจับจ่ายที่ชะลอตัวในเดือน ต.ค. ทั้งยังมีแนวโน้มต่อเนื่องไปอีกระยะ ส่งผลให้“ผู้ผลิตสินค้า” ต้องปรับทิศทางการทำตลาด โดยชะลอการเปิดตัวสินค้าใหม่ และแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อช่วงเทศกาลไตรมาสสุดท้าย ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งการงดโฆษณาและกิจกรรมรื่นเริงในเดือน ต.ค.ตามแนวทางของภาครัฐ

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมโฆษณาเดือนต.ค.-พ.ย. ติดลบกว่า 40%  เชื่อว่ายังคงลดลงต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. ภาพรวมโฆษณาปีนี้คาดว่าจะติดลบ 10% สูงสุดในรอบ 10 ปี

จากสถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าว  คงต้องไปรอลุ้น“กำลังซื้อและเม็ดเงินโฆษณา” ที่จะกลับสู่ภาวะปกติได้ราวไตรมาส2 ปีหน้า