ขั้วโลกที่ 3 (The Third Pole) กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ขั้วโลกที่ 3 (The Third Pole) กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เรามักคุ้นเคยกับคำว่าขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้กัน แต่มีคำศัพท์ที่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก

สำหรับคนไทยคำหนึ่งคือ ขั้วโลกที่สาม ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ครอบคลุมที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย ด้วยลักษณะที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่กว้างใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาวิจัยจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า ขั้วโลกที่สาม นอกจากครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชาการมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งโลกอาศัยอยู่ พื้นที่ขั้วโลกที่สามยังเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญมากมายที่หล่อเลี้ยงประชากรในประเทศเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงประเทศไทยด้วย) และเอเชียตะวันออก พื้นที่ขั้วโลกที่สามนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาแม้กระทั่งต่อความอยู่รอดของบางประเทศในแถบนี้

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีน้ำแข็งสะสมอยู่มากกว่าที่ใดๆในโลกนอกจากที่ขั้วโลกเหนือและใต้ น้ำแข็งที่สะสมอยู่ถือเป็นน้ำต้นทุนปริมาณมหาศาล ที่เป็นที่น่ากังวลมากก็คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่ขั้วโลกที่สามนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยน้ำแข็งที่สะสมอยู่ละลายในช่วงเวลาสั้นๆ และธารน้ำแข็งหดหายไปมาก ส่งผลให้ในปัจจุบันเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม ในบริเวณต้นน้ำ ในอนาคต ปัญหาที่ตามมาและก็น่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพราะน้ำแข็งที่เป็นที่สะสมของน้ำจืดได้หายไปหมด การบริหารจัดการน้ำแข็งและแหล่งน้ำจืดอื่นๆ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในอนาคต จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกันของประเทศในแถบนี้

อีกด้านหนึ่ง ในทางการเมือง พื้นที่ที่ว่านี้ก็เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของโลก โดยเฉพาะระหว่างอินเดียและปากีสถาน ความขัดแย้งด้านพรหมแดนระหว่างจีนและอินเดีย การขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลางบางประเทศ การจัดการพื้นที่ขั้วโลกที่สามจึงมีอุปสรรคมาก

หลายคนคงเพิ่งรู้ว่า ประเทศไทยก็เป็นประเทศแถบขั้วโลกเหมือนกัน แต่เป็นขั้วโลกที่สาม ดังนั้นไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นย่อมกระทบกับประเทศไทยด้วย ที่เราได้ยินกันมาแล้วก็เช่น ผลกระทบที่มีต่อลุ่มน้ำโขงที่เกิดจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งที่บริเวณต้นน้ำในเทือกเขาหิมาลัย และการจัดการต่างๆโดยน้ำมือมนุษย์โดยเฉพาะกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่การสร้างเขื่อนในประเทศจีน ลาว เรื่อยมาจนถึงในประเทศกัมพูชา นอกจากทรัพยากรน้ำแล้ว ทรัพยากรธรรมขาติอื่นๆ เช่นป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และอื่นๆ ก็จะมีการการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในด้านมหาสมุทรอินเดียก็เช่นเดียวกันการละลายของน้ำแข็งและการเปลี่ยนแปลงนิเวศของเทือกเขาหิมาลัย มีส่วนมากต่อการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศแถบนี้

การหายไปของน้ำแข็งเพียงอย่างเดียวก็มีผลกระทบมหาศาลแล้ว นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีผลกระทบอื่นๆตามมามาก ในด้านการปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การหายไปของน้ำแข็งและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมดินและอากาศจะมีผลต่อการไหลเวียนของมวลอากาศ สภาพดินฟ้าอากาศในอนาคตจึงย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คาดว่าจะเกิดจากภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว ด้วยเป็นพื้นดินที่อยู่สูงที่สุดในโลก เทือกเขาหิมาลัยมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของมวลอากาศโดยเฉพาะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลต่อการกระจายและปริมาณฝนในประเทศไทยในฤดูมรสุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งข้อมูลหรืองานวิจัยผลกระทบโดยตรงจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่สามนี้ต่อประเทศไทยอยู่ในระดับน้อยมาก และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการศึกษาการวิจัยเพื่อวางแผนลดผลกระทบรวมทั้งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่อไป

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่กว้างและครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ บางเรื่องเราคิดว่าอยู่ไกลจากตัวเราไม่จำเป็นต้องรู้มากก็ได้ แต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เราได้ตระหนักว่า ความคิดเดิมๆแบบนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป ต่อจากนี้ ประเทศไทยต้องรู้เรื่องความเป็นไปไกลตัว ต้องเร่งสร้างผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆเหล่านี้ เพื่อจะได้มีคนคอยให้ความรู้และจะได้นำองค์ความรู้เหล่านี้มาบูรณาการกับแนวทางการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กำลังดำเนินการ และนำงานวิจัยเหล่านี้ส่งต่อหน่วยงานภาครัฐอาทิ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สกว.ด้าน “การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขับเคลื่อนไปสู่การใช้ประโยชน์”เพื่อนำผลงานวิจัยไปสู่การออกนโยบายและแผนการรับมือต่อไป

-------------------

รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง

ผู้ประสานงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย