คิด 'ร้อยชั้น-พันชั้น' ก่อนลงทุน

คิด 'ร้อยชั้น-พันชั้น' ก่อนลงทุน

ในการลงทุนนั้น หากมองเพียงผิวเผิน เราอาจไม่เห็น 'ขุมทรัพย์' ที่ซ่อนอยู่

เมื่อครั้งที่แล้ว ผมเพิ่งเขียนถึงธุรกิจสายการบินไปหยกๆ คราวนี้มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังอีกเช่นเคย เป็นเรื่องของ 'แอร์เอเชีย' สายการบินโลว์คอสต์ชื่อก้องโลก ที่สามารถพลิกฟื้นผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แอร์เอเชียประสบผลขาดทุนมาโดยตลอด มีเพียง 'สาม จาก ยี่สิบไตรมาส' เท่านั้นที่มีกำไร ผมได้อ่านบทความในเว็บไซต์ bloomberg.com ผู้เขียนคือ เดวิด ฟิกกลิ้ง วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้น่าสนใจยิ่ง โดยชี้ชัดว่า

ที่แอร์เอเชียกลับมาทำกำไรได้นั้น เป็นเพราะธุรกิจหลักของบริษัทมิใช่ 'สายการบิน' อีกต่อไป แต่เป็นธุรกิจ 'เช่าซื้อเครื่องบิน' ต่างหาก !!

ทราบไหมครับว่า แอร์เอเชียเพิ่งสั่งซื้อเครื่องบินจากบริษัทแอร์บัสถึง 575 ลำ (โมเดล แอร์บัสกรุ๊ป เอสอี ซึ่งแอร์เอเชียใช้อยู่เจ้าเดียว) เป็นออเดอร์ขนาดใหญ่เกือบที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทำให้มีอำนาจต่อรองสูง และได้รับส่วนลดเยอะมาก

เมื่อรับมอบเครื่องบินแล้ว บริษัทนกเหล็กสีแดงรายนี้ก็จะเอาฝูงบินมาบริหาร บ้างก็ขายต่อให้สายการบินที่เล็กกว่า บ้างก็ให้สายการบินอื่นเช่าซื้อไป บางทีก็ขายแล้วซื้อกลับมาถูกๆ เรียกได้ว่าทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจนี้ มากกว่ารายได้จากตั๋วเครื่องบินเสียด้วยซ้ำ

และเร็วๆ นี้ โทนี่ เฟอร์นันเดซ ซีอีโอมือทอง จะแยกส่วนธุรกิจดังกล่าวออกมาเป็นอีกหนึ่งบริษัท โดยเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะทำเงินได้ร่วมพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

เชื่อไหมครับว่า 'ค่าตั๋วเครื่องบิน' อย่างเดียว ไม่เคยครอบคลุม 'ต้นทุนจริง' ของแอร์เอเชียได้เลย แม้จะเอาค่าธรรมเนียมหยุมหยิมสารพัด ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมในการจองที่นั่ง ค่าน้ำหนักสัมภาระ ค่าอาหารและรายได้จากสินค้าดิวตี้ฟรีที่ขายบนเครื่องมารวมเข้าด้วยกันแล้ว อย่างมากก็แค่ 'เท่าทุน'

ด้วยเหตุนี้ แอร์เอเชียจึงหันมาเน้นธุรกิจบริหารฝูงบิน และใช้มันเป็นตัวจักรหลักในการประคองธุรกิจกลับมาจนมีกำไรได้สำเร็จ

จะว่าไปก็เหมือนการเอาสินทรัพย์ดำเนินงานในมือมา 'เล่นแร่แปรธาตุ' ดีๆ นี่เอง!

นักลงทุนจำนวนมากไม่เคยทราบความจริงข้อนี้ หุ้นของแอร์เอเชียจึงถูกมองข้าม ปัจจุบัน P/E แค่ 6 เท่ากว่าๆ ส่วน ROE อยู่ที่ 26 เท่า เมื่อเทียบกับเซาธ์เวสต์ที่ ROE 30 เท่า แต่ P/E ประมาณ 13 เท่า แพงกว่าแอร์เอเชียเยอะเลย

กุญแจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงนี้ครับ ในการลงทุนนั้น หากมองเพียงผิวเผิน เราอาจไม่เห็น 'ขุมทรัพย์' ที่ซ่อนอยู่ นักลงทุนที่ดี จึงควรศึกษาหาข้อมูล อ่านให้ขาดว่าแท้จริงแล้ว 'ไดรฟ์เวอร์' ที่สร้างผลกำไรอยู่ตรงไหน และมันพอที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่

เมื่อหลายปีก่อน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยช็อคโลกมาแล้ว ด้วยการเข้าซื้อ 'ไอบีเอ็ม' บริษัทคอมพิวเตอร์ระดับตำนาน ทั้งๆ ที่ตัวแกปฏิเสธหุ้นเทคโนโลยีมาโดยตลอด

แต่แล้ว 'ปู่' ก็มาเฉลยภายหลังว่า สาเหตุของการเข้าซื้อไอบีเอ็ม เป็นเพราะยักษ์ใหญ่สีฟ้ารายนี้ กลายสภาพจากที่เคยเป็นผู้ผลิต หันมาเน้นธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบ ซึ่งมีความมั่นคงกว่ามาก จึงไม่ได้ขัดกับหลักการลงทุนตามตำราของแกแต่อย่างใด

เห็นไหมครับว่า ถ้าอยากเป็นนักลงทุนชั้นเซียน จะมองอะไรชั้นเดียวไม่ได้เป็นอันขาด จะลงทุนทั้งที ต้องอ่านให้เยอะ มองให้ขาด คิดร้อยชั้น-พันชั้น แล้วจึงทำ นี่แหละ วิถีแห่งความสำเร็จ

(ข้อมูลประกอบจากบทความของ David Fickling เว็บไซต์ Bloomberg.com)