'ทุนใหญ่'มองโอกาส ทีวีดิจิทัล

'ทุนใหญ่'มองโอกาส ทีวีดิจิทัล

​การเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนใหญ่ติดอันดับ “มหาเศรษฐีไทย” 2 ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” และ “ปราสาททองโอสถ”

 ที่เข้าซื้อหุ้นใหญ่“ทีวีดิจิทัล” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นปรากฏการณ์การสวนกระแสสื่อดั้งเดิม“ขาลง” จากการก้าวสู่สังคมออนไลน์

ตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้าลงทุนใน “อมรินทร์”สัดส่วน 47%  มูลค่า 850 ล้านบาท  ซึ่งมีทรัพย์สินทั้งโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ นิตยสาร อีเวนท์ ร้านนายอินทร์ รวมทั้งทีวีดิจิทัล ช่องอมรินทร์ทีวี ที่ประมูลมาด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท

ทางด้าน“ปราสาททองโอสถ” เข้าลงทุนในทีวีดิจิทัล ช่องวัน ที่ชนะประมูลมาด้วยราคา 3,320  ล้านบาท​ สัดส่วนถือหุ้น 50% มูลค่า 1,900 ล้านบาท โดยอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับเจ้าของเดิม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ที่ลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือรายละ 25%  การเข้าลงทุนในช่องวัน เจ้าของทุนใหม่ระบุว่ามาในฐานะ“นักลงทุน” ที่เห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนในอนาคต

 การเข้ามาลงทุนของทั้ง 2 กลุ่มทุนใหญ่ เป็นการต่อลมหายใจให้ “ทุนเดิม” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตคอนเทนท์ แต่จังหวะการลงทุนทีวีดิจิทัล ในช่วงเกือบ 3 ปีแรก อาจมีปัจจัยที่ “ผิดแผน” จากสถานการณ์ปีแรกที่ประมูล ทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และงบโฆษณาชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเสพสื่อและคอนเทนท์ในยุคนี้

ธุรกิจทีวีดิจิทัล เป็นสื่อที่ใช้งบลงทุนสูง โดยเฉพาะช่องวาไรตี้ ต้องใช้เงินทุนค่าผลิตคอนเทนท์ระดับ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี  เรียกว่าเป็นต้นทุนการผลิตรายการระดับเดียวกับฟรีทีวีรายเดิม (ทีวีอนาล็อก) แต่ราคาโฆษณายังห่างกันเป็น 10 เท่า  

เมื่อต้องเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน “สายป่าน”ที่คิดว่ายาว จึงเริ่มสั้นลง และต้องมองหาทุนใหม่มาเสริมทัพ  

แม้สื่อทีวี จัดอยู่ในกลุ่มสื่อดั้งเดิม(สื่อเก่า) แต่ยังมีฐานะเป็นสื่อหลัก ที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ด้วยสัดส่วน 98% ของประชากรไทย 69  ล้านคน อีกทั้งครองเม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณา 60% มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี  ถือเป็นตัวเลข ที่ส่งผลให้ธุรกิจทีวีดิจิทัล ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน

แต่กลุ่มทุนที่มีความสามารถเข้ามาถือหุ้นทีวีดิจิทัล น่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเป็นองค์กรที่มีธุรกิจหลากหลายประเภท เช่นเดียวกับกลุ่ม“สิริวัฒนภักดี” และ “ปราสาททองโอสถ” ที่ประกาศตัวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลไปแล้ว

 การเข้ามาลงทุนสื่อทีวีดิจิทัลของทุนใหญ่ มองโอกาสการเป็น“เจ้าของสื่อ” ที่สามารถใช้เป็นช่องทางโฆษณาสื่อสาร กับกลุ่มเป้าหมายวงกว้างทั่วประเทศ เพราะสื่อทีวีตอบโจทย์การสร้างการรับรู้กับผู้บริโภค ที่สามารถตอกย้ำความถี่ในการโฆษณา  ซึ่งเป็นกระบวนการสื่อสารที่บริษัทขนาดใหญ่ต้องจัดสรรงบโฆษณาผ่านสื่ออยู่แล้ว  เครือข่ายธุรกิจระดับ“ไทยเบฟ” ใช้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในฐานะ“นักลงทุน” ที่สามารถสร้างธุรกิจและรายได้จากสื่อทีวี หากเศรษฐกิจและโฆษณากลับมาฟื้นตัว  

หากพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจและโฆษณาปีหน้า ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาฟื้นตัวหรือไม่  และภาระการจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 4 ในเดือน พ.ค.2560 เชื่อว่าจะเห็นการซื้อหุ้นหรือเสริมทุนในทีวีดิจิทัลอีกหลังจากนี้