เรียนรู้การลงทุน ในวันที่ดอกเบี้ยจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้น

เรียนรู้การลงทุน ในวันที่ดอกเบี้ยจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้น

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ในปีนี้มีเหตุการณ์ที่พลิกความคาดหมายของนักลงทุนทั่วโลกหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ Brexit และ การเลือก

ตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯโดยนายทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ซึ่งสวนทางกับผลสำรวจความนิยม (Poll) ก่อนหน้านี้ สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินการลงทุน รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินทุน (Fund Flows) ในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆทั่วโลก โดยตลาดการเงินได้ตอบสนองในเชิงลบหลังจากผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (Risk-Off Mode) สะท้อนจากการร่วงลงของดัชนี S&P500 Futures และ DJIA Futures ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ในขณะที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้าลงทุนในค่าเงินเยนและทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 101.29 เยนต่อดอลลาร์ในระหว่างวัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ด้วยถ้อยแถลงที่ค่อนข้างประนีประนอม ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวล และเชื่อว่านโยบายของนายทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวอย่างมาก ทั้งจากนโยบายด้านการค้า และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  ซึ่งทำให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk-on Mode) อีกครั้งเพียงชั่วข้ามคืน โดยดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์ก ทั้ง DJIA, NASDAQ และ S&P500 ปรับตัวพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และนักลงทุนมีการเทขายตราสารหนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวส่งผลให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ทำให้อาจมีการกู้ยืมผ่านการออกพันธบัตรจำนวนมาก ส่งผลให้ Yield Curve ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยนับตั้งแต่ก่อนทราบผลการเลือกตั้ง จนถึงปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 53bps, 22bps และ 9bps ตามลำดับ นอกจากนี้ Yield Curve ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มจาก -0.046% มาอยู่ที่ +0.042% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยก็ได้เผชิญกับกระแสเงินทุนไหลออกของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน ทำให้ Yield Curve ปรับเพิ่มความชันมากขึ้น  โดยเฉพาะในช่วงอายุยาว (10ปี) ปรับเพิ่มขึ้น 46bps จากช่วงก่อนทราบผลการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในช่วงที่ Yield Curve มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาไถ่ถอนยาวและให้อัตราดอกเบี้ย (Coupon) ต่ำจะได้รับผลกระทบในเชิงลบมากกว่า ตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาไถ่ถอนสั้นและให้ Coupon สูงกว่า เนื่องจาก Coupon ในอัตราที่สูงกว่านั้นจะมาชดเชยผลกระทบจากการที่ Yield Curve ปรับเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของ Yield Curve ต่อพันธบัตรที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond) จะน้อยหรือค่อนข้างจำกัดกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีกำหนดอายุไถ่ถอน เนื่องจากลักษณะของตราสารหนี้ประเภท Perpetual Bond จะไม่มีการไถ่ถอนคืนจนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การเคลื่อนไหวด้านราคาของ Perpetual Bond จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับหุ้นทุน มากกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย 

ดังนั้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการ และมุมมองของธุรกิจในอนาคตของบริษัทที่ออก Perpetual Bond จะมีอิทธิพลต่อราคาของ Perpetual Bond โดยควรเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดี และมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ตาม Perpetual Bond เป็นตราสารทางการเงินที่มีลักษณะซับซ้อนและมีข้อจำกัดมากกว่าตราสารหนี้ที่มีกำหนดอายุไถ่ถอน ดังนั้น นักลงทุนควรทำความเข้าใจถึงลักษณะความเสี่ยงและเงื่อนไขเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง