ปัญหาใหม่ต้องการคำตอบใหม่

ปัญหาใหม่ต้องการคำตอบใหม่

ทุกวันนี้ เมื่อผมคิดถึงทรัมป์ และสีจิ้นผิง ผมก็อดไม่ได้ที่จะย้อนคิดถึงยุคสมัยของ

จักรพรรดิเฉียนหลง และจักรพรรดิเจียชิ่ง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แน่นอนครับว่า คนละบุคคล คนละเวลา แต่ผมว่าบทเรียนคล้ายกัน

จักรพรรดิเฉียนหลงปกครองจีนระหว่าง ค.ศ.1735-1796 นับว่าเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน (อาจจะคุ้นชื่อจากละครและนิยายจีนกันนะครับ) ส่วนจักรพรรดิเจี่ยชิ่ง พระราชโอรส ได้ปกครองจีนต่อมาตั้งแต่ ค.ศ. 1796-1820โดยทรงได้รับยกย่องว่าเป็นจักรพรรดิที่ทรงศีลธรรมอย่างไม่มีที่ติ

แต่สิ่งที่ชวนพิศวง ก็คือ ช่วงท้ายของรัชสมัยเฉียนหลง ต่อไปถึงรัชสมัยเจียชิ่ง กลับเป็นช่วงสิ้นสุดของยุคทองของจีนหลังจากนั้น จีนก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ และไม่เคยกลับมารุ่งเรืองอีกเลยนับเป็นความยอกย้อนสุดยอดของประวัติศาสตร์ เพราะเฉียนหลงได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ส่วนเจี่ยชิ่งก็ได้ชื่อว่าทรงศีลธรรมที่สุด

เวลาคนจีนพูดถึง ยุคทอง สิ่งที่เขาคิดถึงก็คือยุคเฉียนหลงนี่แหละครับ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจบอกว่า ในเวลานั้น จีนมีผลผลิตรวมทางเศรษฐกิจ (ศัพท์สมัยนี้เรียกว่า “GDP”) เป็นอันดับ 1 ของโลกโดยคิดเป็นหนึ่งในสามของผลผลิตทั้งโลกในเวลานั้นคิดเป็น 8เท่าของอังกฤษ และ 6เท่าของเยอรมัน ส่วนสหรัฐฯ ขณะนั้นยังไม่ได้ก่อร่างเป็นประเทศเลยครับ!!

ในทางการเมือง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงปฏิรูปรวบอำนาจการปกครองทั้งหมดไว้ที่จักรพรรดิ ทำให้การเมืองภายในสงบเรียบร้อย ปราศจากความขัดแย้งในหมู่เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ขันทีอย่างในสมัยราชวงศ์ก่อนๆในทางการทหาร เป็นช่วงที่จีนแผ่ขยายอาณาเขตได้กว้างใหญ่ที่สุด ในทางวัฒนธรรม โปรดให้จัดทำสารานุกรมประมวลความรู้และอารยธรรมทั้งหมดของจีน กินความยาว 36,000 เล่ม 800 ล้านตัวอักษร เรียกได้ว่า แสนยานุภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และวัฒนธรรม จีนในยุคเฉียนหลงไม่มีใครเทียบเทียมได้

เมื่อพระเจ้าจอร์จที่สามแห่งอังกฤษ ส่งราชทูตมาขอทำการค้ากับจีน จักรพรรดิเฉียนหลงทรงตะเพิดไล่ราชทูตกลับ พร้อมมีราชสาส์นตอบไปด้วยว่า แผ่นดินจีนอุดมสมบูรณ์ครบถ้วนทุกอย่าง ไม่มีความต้องการ ของเล่น” ประหลาดจากอังกฤษ และไม่มีความจำเป็นต้องค้าขายกับเมืองป่า!!

แต่แล้วในช่วงปลายรัชสมัยเฉียนหลง กลับเริ่มเกิดปัญหาเศรษฐกิจและความอดอยาก จนเกิดกบฏประชาชนขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของจีน

เมื่อจักรพรรดิเจี่ยชิ่ง ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากเฉียนหลงทรงวิเคราะห์ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะการทุจริตอย่างแพร่หลายในหมู่ขุนนาง และเพราะการปกครองที่หย่อนยานจึงทรงมีนโยบายใหญ่ 2 ข้อ ข้อแรก คือ ปราบคอร์รัปชัน ผลงานชิ้นลือชื่อคือทรงประหารเหอเชิน อัครมหาเสนาบดีในสมัยเฉียนหลง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นขุนนางใหญ่ที่ร่ำรวยและคดโกงที่สุดจากนั้นก็ทรงเน้นสร้างค่านิยมความซื่อสัตย์ โดยทรงเห็นว่าการศึกษาขัดเกลาจิตใจสำคัญที่สุด

นโยบายอีกข้อ คือ ทรงยึดแนวนโยบายทั้งหมดในช่วงยุครุ่งเรืองทรงเห็นว่าภัยร้ายต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นนั้น เป็นเพราะเมื่อพระราชบิดาเริ่มชราภาพ ทรงหย่อนยานในการปกครอง แต่นโยบายเดิมๆ ที่เคยนำจีนรุ่งเรืองถึงขีดสุดมาแล้ว ถ้าหากได้ทรงนำกลับมาใช้ปฏิบัติ ย่อมจะทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งเป็นแน่

จักรพรรดิเจียชิ่งทรงงานหนักเป็นที่สุด แต่อนิจจา ผลของความตรากตรำของพระองค์ กลับเป็นความอ่อนแอลงเรื่อยๆ ของจีน สาเหตุก็เพราะปัญหาของจีนในสมัยนั้นล้วนเป็นปัญหาใหม่ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารทางสังคม เศรษฐกิจภายใน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายนอก

ทางสังคม จีนในยุคเฉียนหลงมีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากเดิม 100 เป็น 300 ล้านคน เมื่อประชากรเพิ่ม แต่ผลผลิตเกษตรเท่าเดิม ย่อมเกิดปัญหาความอดอยาก ซ้ำร้าย จีนในยุคนั้นไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งจะช่วยรองรับแรงงานจำนวนมากได้

ทางเศรษฐกิจ จีนในสมัยนั้นใช้แร่เงินเป็นเงินตราในการซื้อขายสินค้า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมีการเปิดเหมืองจำนวนมากในทวีปอเมริกา ทำให้ปริมาณแร่เงินในโลกเพิ่มขึ้นมาก ผลจากการค้าขายในเมืองท่าของจีนในสมัยนั้น ทำให้มีแร่เงินไหลเข้าจีนมหาศาล ส่งผลให้เงินเฟ้อขึ้น 3 เท่า ในช่วงต้นรัชสมัยเฉียนหลงซื้อข้าวต้องใช้เงิน 1 ชั่ง แต่ปลายรัชสมัยต้องใช้เงิน 3 ชั่ง ขณะที่รายได้ของราชสำนักจากการเก็บภาษียังเท่าเดิม ทำให้ในความเป็นจริง เท่ากับว่าราชสำนักจีนมีรายได้ลดลง 3 เท่า ดังนั้น จึงเกิดเป็นวิกฤติการคลังแน่นอน

ทางความสัมพันธ์กับภายนอก จักรพรรดิเฉียนหลงทรงดำเนินนโยบายปิดประเทศ ไม่คบค้าอย่างเป็นทางการกับ “เมืองป่า” จึงเป็นการปิดโอกาสที่จีนจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงในโลกตะวันตก ในปีที่ 13 ของรัชสมัยเฉียนหลงมองเตสกิเออร์ตีพิมพ์หนังสือจิตวิญญาณของกฎหมาย วางทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ, ในปีที่ 34 ของรัชสมัยเฉียนหลง เจมส์ วัตต์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำเริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในปีที่ 54 ของรัชสมัยเฉียนหลง เกิดการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส แต่ประเทศจีนในขณะนั้นไม่ได้รับรู้หรือสนใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เลย

การรวบอำนาจการปกครองยังทำให้ขุนนางจีนขาดความคิดสร้างสรรค์และขาดนวัตกรรมทางนโยบาย ส่วนการจัดทำสารานุกรมนั้น ก็มีการเผาและทำลายหนังสือที่ราชสำนักเห็นว่าเป็นความคิดอันตรายและขัดกับลัทธิขงจื๊อ ผลคือ ยิ่งเสริมสร้างคุณค่าอนุรักษ์นิยม และทำลายโอกาสความคิดและมุมมองใหม่ๆ

จักรพรรดิเจี่ยชิ่งเองก็ทรงเป็นนักอนุรักษ์นิยมเต็มตัว ทรงมองว่าแบบแผนเก่าคือความจริงหนึ่งเดียว ทั้งๆ ที่ปัญหาใหม่ๆ ไปไกลเกินกว่าภูมิปัญญาของปราชญ์จีนโบราณนอกจากนั้น ยังทรงหา “แพะ” มาสังเวยความล้มเหลวของจีน ทรงโทษคอร์รัปชั่น โทษการเสื่อมสลายของค่านิยมเก่าๆ ตัวคอร์รัปชั่นนั้นเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน แต่เกิดจากที่ราชสำนักจีนไม่มีการแบ่งแยกและคานอำนาจ ราชสำนักมีอำนาจล้นคุมทุกภาคส่วน ทุกคนอยากเข้าเป็นขุนนางเพื่อตักตวงประโยชน์ ไม่มีการพัฒนาธุรกิจเอกชน

ปัญหาใหม่ๆรวมทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ และปัจจัยภายนอกแบบใหม่ ล้วนต้องการวิธีการและคำตอบใหม่ๆ ถ้าหากมองให้ถูกทางวิกฤติทั้งหลายล้วนเป็นโอกาส ดังเช่นที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในตะวันตก ก็เพราะแรงกดดันจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน น่าเสียดายที่จักรพรรดิเฉียนหลงและเจี่ยชิงไม่ได้ทรงคว้าโอกาสนั้น ยุคทองสุดท้ายจึงกลับกลายเป็นต้นเหตุของยุคถดถอย

หมุนเวลามาโลกปัจจุบัน ทรัมป์กับสีจิ้นผิง ต่างคนต่างก็อยากจะย้อนไปสู่ ความยิ่งใหญ่ในอดีตทั้งคู่ โดยไม่ดูปัญหาที่แท้จริงในวันนี้เลย

สหรัฐ กำลังเผชิญปัญหาใหม่จากโลกาภิวัฒน์และการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี โรงงานส่วนหนึ่งย้ายไปประเทศกำลังพัฒนา โรงงานอีกส่วนใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทน ปัญหาใหม่ย่อมต้องการคำตอบใหม่ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับหา แพะ คือ ชี้นิ้วต่อว่าคนอพยพว่ามาแย่งงานคนสหรัฐฯและประกาศจะสร้างสหรัฐ ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยยึดนโยบายแบบเดียวกับสมัยเรแกน ทั้งๆ ที่สภาพโลกปัจจุบันต่างจากสมัยเรแกนมากแล้ว

ส่วนในประเทศจีน ความสำเร็จที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ มากมาย แต่คำตอบของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กลับเป็นการเดินหน้ารวบอำนาจโทษการเสื่อมสลายของค่านิยมคอมมิวนิสต์ โทษคอร์รัปชันและรณรงค์ปราบคอร์รัปชันครั้งมโหฬาร ซึ่งเรียกคะแนนแม่ยกได้ไม่น้อย (แต่มีบางเสียงบอกว่าปราบแต่พวกตรงข้าม) ส่วนเศรษฐกิจนับวันก็เติบโตช้าลง เพราะยังไม่ได้แก้ที่รากเหง้าของปัญหาใหม่ๆ อย่างแท้จริง

สีจิ้นผิง ชอบพูดถึง ความฝันของจีน ที่จะรื้อฟื้นให้จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (ไม่รู้ทรัมป์ลอกสีหรือเปล่า) ซึ่งหลายคนบอกว่า เขากำลังคิดย้อนถึง ยุคทองของเฉียนหลง ที่จีนยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และสีจิ้นผิงอยากรวบอำนาจเด็ดขาดแบบเฉียนหลง

ไม่ค่อยแน่ใจครับว่า สีจิ้นผิงได้ตระหนักถึงข้อคิดที่ควรได้จริงๆ จากประวัติศาสตร์จีนในช่วงเวลานั้นหรือเปล่า?