จากนวัตกรรม ร.9 สู่นวัตกรรม 4.0

จากนวัตกรรม ร.9 สู่นวัตกรรม 4.0

หนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ได้แก่ การเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ ในปี 2549 คณะรัฐมนตรีได้ประกาศเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นวัตกรรมของพระองค์แตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ส่วนใหญ่ตรงที่ เอาความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นโจทย์ หาเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้ง่าย และนำวัสดุอุปกรณ์ที่มีในประเทศมาปรับใช้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลชนอย่างไพศาล เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเป็นเครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย โดยทรงได้แนวทางจาก “หลุก” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้วิดน้ำเข้านา ที่ได้วิจัยต่อยอดเป็น 9 รูปแบบ จนได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor ซึ่งเป็นองค์กรทางด้านนวัตกรรมที่เก่าแก่ของเบลเยียม ในงาน Brussels Eureka 2000

นอกจากกังหันน้ำแล้ว พระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ทรงสนพระทัยปัญหาพลังงานชีวภาพมาตั้งแต่ปี 2528 ทรงสนพระทัยการจัดการน้ำและดินที่ควรเน้นย้ำคือความสนพระทัยทั้งหลายของในหลวงของเราจะเอาประชาชนเป็นที่ตั้งหรือเป็นศูนย์กลางเสมอ พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของผู้สร้างงานวิจัยรับใช้สังคม

ปัจจุบันในแต่ละปี ประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณวิจัยไปไม่ใช่น้อย ในปี 2558 สูงถึง 63,489 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.48 ของ GDP ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2569 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดของแผนฯ 13 จะมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 12,966 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือ 440,849 บาทต่อปี

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้ดำเนินการวางแผนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ โดยในยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมีเป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP เพิ่มสัดส่วนการลงทุน R&D เอกชนต่อรัฐเป็น 70:30 และให้มีบุคลากร R&D ต่อประชากรเป็น 25:10,000 คน

การสร้างนวัตกรรม 4.0 นั้น ส่วนหนึ่งคงต้องใช้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงมีการให้แรงจูงใจให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยผลิตผลงานวิชาการรับใช้สังคมและให้ขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการได้ผลงานวิชาการรับใช้สังคม ควรเป็นปัญหาเชิงวิชาการที่มาจากชุมชนและพื้นที่ โดยนำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้ประกอบการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนยอมรับและนำองค์ความรู้นั้นไปขยายผลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนต่อไปการเผยแพร่ผลงานจะต้องเผยแพร่ทั้งในพื้นที่เป้าหมาย และเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง เป็นเอกสารที่ใช้อ้างอิง หรือใช้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ซึ่งผลงานนั้นต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่เป้าหมายได้

งานวิจัยรับใช้สังคมไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานของสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์ อาจเป็นสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเกษตรได้ ยกตัวอย่างเช่น ชุดโครงการจัดการเชิงระบบในการผลิตโคเนื้อของกลุ่มสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานภาครัฐหลายแหล่งทุนโดยมี รศ.ดร.โชค โสรัจกุล มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหัวหน้าชุดโครงการฯ มีวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตโคขุนให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน

โดยการประยุกต์ใช้เศษเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ฟักทอง มันสำปะหลังตกเกรด และเปลือกข้าวโพด นำมาผลิตเป็นอาหารหมักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สำหรับใช้เลี้ยงโคขุนแทนการใช้อาหารสำเร็จรูปนอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคแล้ว ยังสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และยังส่งผลทำให้การเผาเปลือกข้าวโพดในพื้นที่ลดลง ลดการสร้างมลพิษทางอากาศและปัญหาหมอกควัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่อีกด้วยนอกจากนี้ชุดโครงการฯ ยังได้ต่อยอดการวิจัยไปสู่การจัดการผลิตโคเนื้อเชิงระบบ โดยการรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตโค วางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อสร้างสมดุลการผลิต รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโคผลจากการดำเนินงานก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคมีกำไรเพิ่มขึ้นเกษตรกรผู้ปลูกพืชเกษตรอื่นๆ มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น และผลทางสิ่งแวดล้อม คือ ช่วยลดปัญหาหมอกควันและลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกอันเป็นผลมาจากการเผาเปลือกข้าวโพดในพื้นที่โล่งแจ้งลดลง

โครงการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการวิจัยและพัฒนา ภายใต้สำนักงานบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ได้ประเมินผลความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของชุดโครงการโคขุนดอกคำใต้ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost–Benefit Analysis: CBA) โดยกำหนดให้ประเมินผลประโยชน์รวมระยะเวลา 15 ปี ใช้อัตราคิดลดร้อยละ 7 และกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีฐานในการคำนวณ พบว่า มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 32.93-71.93 ล้านบาท และอัตราส่วนของผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C ratio) เท่ากับ 13.00-15.05 หมายความว่า การลงทุนวิจัย 1 บาท สามารถสร้างผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินได้ถึง 13.00-15.05 บาทสามารถสรุปได้ว่าชุดโครงการจัดการเชิงระบบในการผลิตโคเนื้อของกลุ่มสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ และผลงานวิจัยยังได้รับใช้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ชุดโครงการฯ ยังดำเนินงานตามรอยพระยุคลบาทโดยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการผลิตโคเนื้ออย่างเห็นผล โดยการดำเนินงานได้ประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งกลุ่มนักวิชาการของมหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์พะเยา กรมปศุสัตว์ และกลุ่มเกษตรกร โดยเน้นกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และเน้นการวิจัยจากปัญหาและความต้องการของเกษตรกรเป็นที่ตั้งนอกจากนี้ ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมสร้างผลประโยชน์ คือ

1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดตั้งโรงเชือดมาตรฐานในพื้นที่และสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ และ

2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่เป็นแหล่งทุนสำคัญที่สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มเกษตรกร จะพบว่า เครือข่ายความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีบทบาทสำคัญที่เข้ามาเติมเต็มและผลักดันให้เกิดกระบวนการผลิตโคขุนอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

มาตามรอยพระยุคลบาทสร้างนวัตกรรมรับใช้สังคมกันเถิดค่ะ