ข้าวมีกรวดหินปนเปื้อน จะกินลงไหม

ข้าวมีกรวดหินปนเปื้อน จะกินลงไหม

ข้าวดีเลิศอย่างไร เพียงปัจจัยเดียวที่พลาดในการแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารอ

เช่น มีกรวดหินดินทรายเศษฟางข้าวหรือกากข้าวเปลือก คือเปลือกข้าวสีเหลืองปนเปื้อนมา ข้าวสารก็เสียราคาทันที

หากใครขณะกินข้าวขบถูกกรวดหิน ไม่ต้องถึงขั้นฟันบิ่นหรือแตกหรอก ก็จะเลิกซื้อเลิกกินข้าวนั้นไปเอง ดังที่อาจจะกำลังค่อยๆ เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ที่คนทั้งประเทศกำลังรวมพลังช่วยกันซื้อตรงขายตรงกับชาวนาผู้พยายามสีข้าวขายเองบรรเทาความเดือดร้อนราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

ในสหรัฐอเมริกา เศษแก้วในธัญพืชทำให้ผู้บริโภคฟ้องผู้ผลิต ในฝรั่งเศส เศษกระดูกในซุปทำฟันลูกค้าแตก ก็ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจนร้านอาหารนั้นเจ๊งไปเลย

ที่ผ่านมาเราอาจใส่ใจแต่เพียงการปนเปื้อนสารเคมีจากปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือว่าพันธุ์ข้าวถูกตัดแต่งยีนส์มาหรือไม่ ข้าวเปลือกเคยรมยาหรือไม่ โดยไม่ได้ทันสนใจเรื่องการปนเปื้อนความไม่บริสุทธิ์อื่นๆที่ปนเปื้อนมาในข้าว เช่น กรวด หิน ดิน ทราย และเศษมูลสัตว์ ทั้งนี้ก็เพราะเราเคยชินกับความไร้กังวลมานานตั้งแต่มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ที่ ใช้เครื่องจักรพัฒนามาเรื่อยๆจนดีมากๆ ช่วยกรองความไม่บริสุทธิ์ในข้าวออกไปจนเกือบ 100%เช่น เครื่องจับแยกสี (color sorter)คัดกากข้าวออกเสร็จสรรพ ในขณะที่เครื่องสีของโรงสีขนาดเล็กหรือของชาวนาจะสู้โรงสีใหญ่ในเรื่องนี้ไม่ได้เลย

เหนืออื่นใด ก่อนที่ข้าวเปลือกจะถึงเครื่องสี โรงสีมืออาชีพดูแลรักษาข้าวเปลือกมาอย่างเข้มงวด มีลานซีเมนต์ตากข้าวอย่างดีเพื่อตากข้าวเปลือกเพิ่งเก็บเกี่ยวมามีความชื้นสูงให้ลดลงอยู่ระดับ 14%จึงจะเก็บรักษาในยุ้งฉางหรือนำมาสีได้ หรือถ้าไม่ตากแดดซึ่งเป็นเทคโนโลยีราคาถูกที่สุด ก็ใช้เครื่องอบซึ่งราคาแพงทั้งเครื่องทั้งพลังงานไฟฟ้า อีกทั้ง รักษาความสะอาดพื้นที่เข้มงวด ต้องปลอดหนู ปลอดแมลง สัตว์เลี้ยงเช่นไก่ สุนัข แมว ไม่มาเพ่นพ่าน

ในขณะที่ชาวนาผู้เพิ่งจะพยายามสีข้าวเองขายเองโดยตรง พวกเขาตากข้าวเปลือกบนพลาสติกที่นำมาปูในท้องนาบ้าง ลานรอบๆ บ้านบ้าง ริมถนนบ้าง อย่างที่เราเห็นกัน ซึ่งนั่นก็คือความพยายามของชาวนาผู้ต้องมาทำงานส่วนที่เคยเป็นงานของโรงสี โดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมพื้นที่หรือมีเครื่องมือมีแรงงานสำหรับการนี้มาก่อน การตากข้าวเปลือกตามยถาเช่นนี้ กรวดหินดินทรายความไม่บริสุทธิ์อื่นๆ อันอาจรวมเศษมูลสัตว์มีโอกาสติดปนข้าวเปลือกมาด้วย

โดยเฉพาะข้าวเปลือกไม่ได้ตากกันแดดเดียวเหมือนเนื้อแดดเดียว ข้าวเปลือกเก็บเกี่ยวมาแล้วต้องตากแดดดีๆจัดๆอย่างน้อย 4-5 แดดจึงจะลดความชื้นได้ระดับ 14-15% ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องผ่านการตากแล้วเก็บ 4-5 ครั้ง ตกบ่าย 3 ก็ต้องเริ่มเก็บแล้ว จะทิ้งข้าวเปลือกตากอากาศข้ามคืนไม่ได้ จะรับความชื้นเข้ามาใหม่อีก เหมือนตากผ้าแห้งแล้วไม่เก็บแต่วัน ข้าวเปลือกเป็นอินทรีย์มีชีวิต การคายความร้อนความชื้นของเปลือกจะส่งผลต่อเมล็ดข้าว ระหว่างตากแดดต้องไถพลิกข้าวเปลือกทุก 2 ชั่วโมงให้ได้แดดทั่วถึง หากโดนละอองฝนหรือฝนหลงฤดู แม้ทำให้แห้งเมื่อนำมาสีข้าวสารที่ได้จะป่นเป็นผง

ที่แจกแจงมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อบอกว่าที่ชาวนาพยายามสีข้าวขายเองโดยยังไม่เคยทำงานของโรงสีมาก่อน เป็นการเพิ่มงานอีกหลายอย่างมากๆ ในสภาพที่ด้อยประสบการณ์ ไม่มีความพร้อมเรื่องสถานที่เครื่องไม้เครื่องมือ อีกทั้งทุกวันนี้ลูกชาวนาส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้านเป็นแรงงานในครอบครัวแล้ว ไปทำอื่นกันหมด จึงอาจต้องจ้างแรงงานมาช่วยตากข้าวเปลือกเก็บข้าวเปลือกกว่าจะเอามาสี

ฉะนั้น หลังจากได้รับเงินอุดหนุนในรูปแบบใดๆ จากรัฐบาลแล้ว หากชาวนาจะหยุดผลิตสีข้าวขายตรง ขอเลิกทำงานของโรงสีไปเลย อยากใช้แรงใช้เวลาจัดการเตรียมท้องนาเตรียมดินเพาะปลูกพืชไร่อื่นอย่างที่เคยทำ (เนื่องจากว่าปลูกข้าวอย่างเดียวไม่เคยพอกิน) ก็ขออย่าได้ตำหนิชาวนา หาว่าพวกเขาไม่รู้จักเป็นไทแก่ตัว ไม่รู้จักตัดคนกลาง ฯลฯ

นี่ขนาดยังไม่นับภาระการบรรจุการเก็บรักษาการขนส่งและโดยเฉพาะหากต้องรอเงินจากการขายข้าวสาร ซึ่งก็เป็น “ต้นทุนการผลิต” ทั้งนั้น ชาวนา(ผู้ไม่เคยต้องทำมาก่อน)เขาจะแบกรับได้หรือไม่หรือว่าคุ้มค่าจะต้องแบกรับหรือไม่ในเมื่อพวกเขายังมีงานอาชีพอื่นๆต้องทำ

สำคัญที่สุดก็คือ ข้าว 50 - 60% ที่เราผลิตได้ ผลิตเพื่อการส่งออกทั้งนั้น ต่อให้ชาวนาลุกมาสีข้าวขายตรงได้ทุกคน ตลาดในประเทศก็รับไว้ทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีกลไกอื่น บทบาทหน้าที่บริหารจัดการข้าวเปลือก 50-60% ของข้าวเปลือกที่เราผลิตได้ยังอยู่ในมือโรงสีโดยเฉพาะคุณภาพในการแปรรูปส่งออก ถึงขนาดปนเปื้อนกรวดหินดินทรายไม่ได้เด็ดขาด จึงไม่ควรด่วนด่าโรงสีจนนายกสมาคมโรงสีลาออกอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้น

น่าจะหาทางทำให้ชาวนาได้ใช้เครื่องจักรสีข้าว ได้ใช้ลานตากข้าว ตลอดจนยุ้งฉางของโรงสีเพื่อประโยชน์ร่วมกันจะดีกว่า เพราะชาวนามีพลังต่อรองสูง โรงสีไร้ข้าวเปลือก ก็คือกองเศษเหล็กชิ้นโตๆดีๆ นี่เอง ในสถานการณ์เฉพาะหน้าขณะนี้ ชาวนากับโรงสีอยู่ด้วยกันได้ ดีกว่าพังกันไปทั้งสองข้าง

 อีกอย่างหนึ่ง ตัวกลางเรื่องข้าวยังมีอีกหลายต่อนับจากไร่นามาหาโรงสีข้าวกว่าจะถึงมือหยงคือนายหน้าจัดหาซื้อข้าวสารให้ผู้ส่งออก น่าเสียดายที่เรายังไม่ใส่ใจตัวกลางอื่นๆนอกจากโรงสี ซึ่งที่จริงในวงจรค้าข้าว โรงสีแบกภาระเสี่ยงเรื่องราคามากกว่าตัวกลางอื่นๆ โรงสีที่เก็งราคาข้าวผิดพลาดจึงล้มหายตายไปจากวงการเสียก็มาก