กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย จะถอยหลังหรือเดินหน้า?(2)

กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย จะถอยหลังหรือเดินหน้า?(2)

ในบทความฉบับนี้ เรายังอยู่ที่ประเด็นที่น่าสนใจในร่างพระราชบัญญัติการแข่งขัน

ทางการค้าฉบับใหม่ประเด็นที่สี่ เกี่ยวกับข้อห้ามการกระทำต่างๆ ที่จะเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันนะคะ โดยในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดข้อห้ามการกระทำต่างๆ ไว้ในร่างมาตรา 50 – 55 ดังนี้

ร่างมาตรา 50 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

(2) กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตนต้องจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น

(3) ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งสินค้า ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด

(4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ร่างมาตรานี้ดูเร็วๆ จะเห็นว่าก็คือมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ใช้ในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งยังคงหลักการเดิมคือเป็นข้อห้ามที่ใช้บังคับกับ “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” (Dominant operator หรือ Significant Market Power (SMP)) เท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจดูอย่างใกล้ชิดแล้วจะพบว่าร่างมาตรานี้มีการปรับถ้อยคำจากกฎหมายปัจจุบันเล็กน้อย ใน (2) ซึ่งปัจจุบันห้าม “กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม” เปลี่ยนเป็น ห้าม “กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตนต้อง .....” ซึ่งหมายความว่าร่างกฎหมายใหม่ไม่คำนึงแล้วว่าเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกำหนดนั้นจะเป็นการ “บังคับ” หรือไม่ ตราบใดที่เป็นเงื่อนไขที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตนต้องจำกัด ..... ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดบริการ การผลิต การซื้อหรือจำหน่ายสินค้า ฯลฯ ก็จะเข้ามาตรานี้แล้ว อย่างไรก็ดี การตัดคำว่า“โดยทางอ้อม”ออกอาจจะทำให้ตีความได้ว่า มาตรานี้เพียงแต่ห้ามการกำหนดเงื่อนไขโดยตรงเท่านั้น ไม่รวมถึงเงื่อนไขที่ส่งผลโดยอ้อมให้ลูกค้าของตนต้องจำกัด การบริการ การผลิต การซื้อหรือจำหน่ายสินค้า ฯลฯ ทำให้ขอบเขตของมาตรานี้อาจจะแคบลง

มาถึงร่างมาตราต่อไปคือร่างมาตรา 51 ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องการควบรวมกิจการเช่นเดียวกับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยส่วนตัวผู้เขียนอ่านแล้วก็เกิดความกังวลไม่น้อย เนื่องจากเป็นการพลิกหลักการจากกฎหมายฉบับปัจจุบันจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ผ่านมาผู้อ่านคงจะพอทราบว่ามาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 นั้นกำหนดว่าหากจะควบรวมธุรกิจกันในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อน (Pre-merger Notification) แต่มาตรา 26 ไม่มีการบังคับใช้จนถึงปัจจุบันเนื่องจากยังไม่มีการออกประกาศกำหนดกฎเกณฑ์การควบรวมกิจการว่าการควบรวมอย่างไรบ้าง ที่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันซึ่งจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อน

พอมาถึงร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่นี้ กลับกลายเป็นว่าการควบรวมธุรกิจในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันไม่ต้องมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อนแล้วแต่เป็นการกำหนดให้แจ้งภายหลังแทน (Post-merger Notification) ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเจตนาของผู้ร่างกฎหมายนั้นไม่ต้องการให้ประเทศไทยมีการควบคุมการควบรวมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจ (Merger Control) แล้วหรือไม่

พบกันใหม่ในคราวหน้าค่ะ

-----------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่