อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 25 ปี (15 ปี) ตอนที่ 3

อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 25 ปี (15 ปี) ตอนที่ 3

ผู้เขียนได้สรุปย่อเนื้อหากรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ยุทธศาสตร์ชาติ : กรอบการพัฒนาระยะยาว

                กรอบการพัฒนาระยะยาวเป็นแนวทางเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน(3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจากเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเอกสารของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

                ยุทธศาสตร์ 6 ประการของแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี (บรรลุเป้าหมายและสิ้นสุดปี พ.ศ. 2579) ที่จัดทำในรัฐบาลชุดนี้ ผมเห็นด้วยและสนับสนุนเนื้อหาบางส่วน แต่ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐาน ไม่มีอะไรแปลกใหม่ และอยู่ในกรอบคิดแบบราชการ

ผมเห็นว่าควรมีมากกว่า 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ 15 ปี (พ.ศ. 2561-2575) ที่ผมเสนอมีทั้งหมด 10 ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอำนาจและส่งเสริมประชาธิปไตยของประชาชนให้เข้มแข็งมั่นคง

ยุทธศาสตร์ที่สอง ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเอา “คุณภาพชีวิตของพลเมือง” เป็นศูนย์กลาง (โดยให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยในระยะ 15 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 5-6%)

ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและ Greater Thailand/New Siam ยุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคง ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล คสช แต่ยุทธศาสตร์ที่ผมศึกษาวิจัยและคิดไว้นี้จะรวมแผนยุทธศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมและภาษาด้วย รวมทั้งการสร้างพลังเครือข่ายสยามและเชื้อชาติไทยอีกด้วย

ยุทธศาสตร์ที่สี่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายความร่วมมือยุทธศาสตร์ลดอำนาจการผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน เสรีภาพในการประกอบการ

ยุทธศาสตร์ที่ห้า ยุทธศาสตร์ด้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

ยุทธศาสตร์ที่หก ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยและการปรับโครงสร้างประชากรให้เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่เจ็ดยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมือง

ยุทธศาสตร์ที่แปด ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ ภาคการเมือง 

ยุทธศาสตร์ที่เก้า ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาหาร การท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ของโลก และ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

ยุทธศาสตร์ที่สิบ ยุทธศาสตร์บูรณาการสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

- ช่วงที่ 1 ของการทำยุทธศาสตร์ 20 ปี รัฐบาล คสช แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้มีการดำเนินการไปแล้วเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติและกรอบแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยในระยะ 20 ปี โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและเป็นอดีตข้าราชการวัยเกษียณ ได้วางกรอบยุทธศาสตร์ระยะยาวให้กับคนรุ่นหลังที่อาจมีความคิด ความเข้าใจ มีช่องว่างระหว่างวัย ในเรื่องต่างๆต่างจากคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ทำไมเราจึงไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมวางกรอบวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะต้องเป็นผู้มีส่วนทำให้แผนยุทธศาสตร์นี้บรรลุเป้าหมาย และ เป็นผู้ที่จะได้รับผลจากยุทธศาสตร์นี้ในช่วง 20 ปีซึ่งผู้ร่างแผนอาจไม่ได้รับรู้ผลกระทบของยุทธศาสตร์นี้ 

- ช่วงที่ 2 นั้นมีการระบุว่า ให้รับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ จัดทำและเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงก็คือ ยังมีการเปิดกว้างและการมีส่วนร่วมน้อยเกินไป ทั้งที่มีความสำคัญมาก แตกต่างจาก การจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี (2560-2574) ที่ผมไปร่วมทำทั้งในฐานะประธานอนุกรรมการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติและกรรมการสภาการศึกษา

- ช่วงที่ 3 จัดตั้งกลไกตามรัฐธรรมนูญ และปรับปรุงยุทธศาสตร์แห่งชาติ ผมขอเสนอให้กลไกนั้นเป็นกลไกที่เป็นประชาธิปไตย หรือ ให้ผู้ที่เข้าร่วมปรับปรุงยุทธศาสตร์แห่งชาติมาจากผู้แทนที่หลากหลายและมีความรู้ความสามารถ มีจิตสาธารณะ ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์โดยขาดการถ่วงดุล

ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พลิกโฉมระบบเศรษฐกิจและสังคม ความหลากหลายทำให้ภูมิทัศน์ของโลกเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ก่อให้เกิดโอกาสทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี รวมถึงการเมืองของประเทศไทย

แต่ในขณะเดียวกันท่ามกลางพลวัตต่างๆก็มีความท้าทาย ปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามที่ต้องบริหารจัดการยากมากขึ้นภายใต้ทุนนิยมไร้พรมแดน                      และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่แต่เดิมเป็นระบบ “เกษตรขนาดเล็กเพื่อยังชีพ” ต้องปรับตัวและเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจ “พึ่งพาอุตสาหกรรมและการส่งออก” และถูกกดดันให้เปลี่ยนจาก ระบบเศรษฐกิจพึ่งพิงอุตสาหกรรมผรับจ้างผลิตเพื่อส่งออก มาเป็น ระบบเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยนวัตกรรมมากขึ้น

การที่ภาคเกษตรกรรมมีการพัฒนาล่าช้ากว่าฐานการผลิตอื่นๆ จึงทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรมและระหว่างสังคมในเมืองและชนบทขยายตัวกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาความยากจนกระจุกตัวในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและในภาคชนบท 

ขณะที่ “ประเทศ” ได้แต่ซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาติ เทคโนโลยีที่ผลิตได้เองมีน้อยมาก เป็นภาพสะท้อนถึงการไม่เอาใจใส่ในการลงทุนทางด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ครับ

ปัญหาเหล่านี้ต้องมีมาตรการระยะสั้น ระยะยาวในการแก้ปัญหา ครับผม

บรรณานุกรม

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2574) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2559

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2574) สภาปฏิรูปแห่งชาติ 2559

สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ. “อนาคตนโยบายสาธารณะเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” บริษัท บพิธการพิมพ์ จำกัด 2559.

อนุสรณ์ ธรรมใจ. ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 15 ปีสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

อนุสรณ์ ธรรมใจ. เศรษฐกิจประเทศไทย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต 2559.

อนุสรณ์ ธรรมใจและคณะ. “การอภิวัฒน์ประเทศไทย กับ แนวคิด ดร. ปรีดี พนมยงค์” สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ ทำเนียบรัฐบาล และ สถาบันปรีดี พนมยงค์ 2549.